ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบ 'ไส้กรอกแดง' พบสารไนไตรท์เกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 10870

news pic 30032021 friedsausage

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบ 'ไส้กรอกแดง' พบสารไนไตรท์เกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง แนะผู้บริโภคสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่จัดเกินไป และข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่น

          นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดงที่มีส่วนผสมจากเนื้อไก่ จำนวนทั้งหมด 8 ตัวอย่าง จากตลาดสดและไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในเดือนตุลาคม 2563 นำส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid), กรดซอร์บิก (Sorbic acid), ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite)

          โดยผลทดสอบกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) พบ 1 ตัวอย่าง มีปริมาณกรดเบนโซอิก 119.91 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม คือ ยี่ห้อ หมูสามตัว (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20/24-10-20) และยังพบกรดซอร์บิกปริมาณ 3.69 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอีกด้วย ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณกรดซอร์บิกน้อยกว่า 1.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ไม่พบกรดเบนโซอิก คือ ยี่ห้อ SAVEPAK (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20/27-10-20)

          ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ไม่พบทั้งกรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก จำนวน 6 ตัวอย่าง

          1. แหลมทอง (วันผลิต/วันหมดอายุ 09-10-20/19-10-20)  

          2. บี-ฟูดส์ (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20/20-10-20)

          3. GF FOODS (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20/28-10-20)

          4. โกลเด้นแบรนด์ (วันผลิต/วันหมดอายุ 09-10-20/28-10-20)      

          5. BETAGRO เบทาโกร (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20/30-10-20)          

          6. CK ไส้กรอกแดง สูตรทอดกรอบ (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20/06-11-20)

          นอกจากนี้ ยังตรวจพบไนไตรท์ (Nitrite) เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด ไปเล็กน้อย 1 ตัวอย่าง คือ ยี่ห้อ CK ไส้กรอกแดง สูตรทอดกรอบ (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20/06-11-20) พบปริมาณไนไตรท์ เท่ากับ 80.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เกณฑ์ที่กำหนด คือ ต้องไม่เกิน 80 มก./กก.)

          ส่วนผลทดสอบไนเตรท (Nitrate) และไนไตรท์ (Nitrite) ที่ตรวจแล้วพบไม่เกินมาตรฐาน หรือไม่พบเลย มีจำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่

          1. แหลมทอง (วันผลิต/วันหมดอายุ 09-10-20/19-10-20) ไนเตรท/ไนไตรท์(มก./กก.) น้อยกว่า 10.00/ไม่พบ

          2. บี-ฟูดส์ (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20/20-10-20) ไนเตรท/ไนไตรท์(มก./กก.) 16.49/น้อยกว่า 10.00

          3. GF FOODS (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20/28-10-20) ไนเตรท/ไนไตรท์(มก./กก.) 15.19/31.12

          4. โกลเด้นแบรนด์ (วันผลิต/วันหมดอายุ 09-10-20/28-10-20) ไนเตรท/ไนไตรท์(มก./กก.) 18.51/31.47

          5. BETAGRO เบทาโกร (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20/30-10-20) ไนเตรท/ไนไตรท์(มก./กก.) 17.24/40.76

          6. หมูสามตัว (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20 / 24-10-20) ไนเตรท/ไนไตรท์(มก./กก.) ไม่พบ

          7. SAVEPAK (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20 / 27-10-20) ไนเตรท/ไนไตรท์(มก./กก.) 21.00/24.61

          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ได้อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธี ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์

          อย่างไรก็ตาม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ก็ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อน เช่น หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว, หมู, ไก่) หรือ ไส้กรอกชนิดต่าง ๆ ที่ทำจากเนื้อสัตว์บด


ข้อแนะนำในการบริโภค

          หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกแดง ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่จัดจนเกินไป และสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการใช้วัตถุกันเสียเลยก็จะเป็นการดี นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณพอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ยังเป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่น ๆ อีกด้วย

ข้อสังเกต

          ไนไตรทและไนไตรท์ เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใส่ในไส้กรอกหมูเพื่อหวังผลหลัก 2 ประการ คือ ช่วยทำให้สีแดงเนื้อหมูในไส้กรอกดูสดและน่ารับประทานและใช้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในเนื้อสัตว์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะไม่นิยมใช้ในไส้กรอกไก่เนื่องจากเนื้อไก่โดยทั่วไปมีสีขาว การใส่ไนเตรทและไนไตรท์จะไม่ช่วยในการเร่งสีอีกทั้งผลในการยังยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ ยังสามารถใช้ตัวเลือกอื่น ๆ ในการเป็นสารยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้


อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3589

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นิตยสารฉลาดซื้อ, ผู้บริโภค, ฉลาดซื้อ, ไส้กรอกแดง

พิมพ์