มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชวนผู้บริโภค แสดงพลัง ไม่สนับสนุนสินค้าของ บ.สินมั่นคง ประกันภัย เนื่องจากหมดความน่าเชื่อถือ จี้ คปภ. ต้องไม่ให้มีบริษัทใด เอาเปรียบประชาชนเช่นนี้อีก

 คปภ01

         ข่าวมูลนิธเพื่อผู้บริโภค I ตามที่วันนี้ ( 16 กรกฎาคม 2564 ) มีข่าวเผยแพร่ทั่วไปว่าบริษัทประกันสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 โดยจะคืนเงิน (ส่วนต่าง)ให้กับลูกค้า โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 นั้นทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “บริษัทสินมั่นคง หรือบริษัทประกันภัยไม่มีสิทธิยกเลิกประกันโควิด เพราะผู้ซื้อไม่ได้ทำผิดสัญญา ถ้าไม่จ่ายผู้บริโภคมีสิทธิ์ฟ้องได้ บริษัทประกันภัยไม่มีสิทธิในการอ้างเหตุเลิกสัญญา เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น เพราะเท่ากับบริษัทประกันคาดการณ์ความเสี่ยงผิดพลาดเอง และผู้เอาประกันก็ไม่ได้ทำผิดสัญญาใดๆ หรือทำประกันโดยไม่สุจริต บริษัทประกันภัยจึงไม่มีเหตุที่จะบอกเลิกสัญญาได้ จึงขอให้ คปภ.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย เปิดเผยข้อมูลจำนวนตัวเลขผู้เอาประกันโควิด เจอจ่ายจบ ของบริษัทประกันภัยทุกบริษัท โดยเฉพาะของ บ.สินมั่นคง เพราะจะได้รู้จำนวนที่แท้จริงของคนที่ได้รับผลกระทบหากการถูกบอกเลิกกรมธรรม์ และมีคำสั่งให้บริษัทประกันภัยทบทวนและยุติการบอกเลิกกรมธรรม์ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคโดยทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เอาประกัน (ทั้งนี้มูลนิธิฯ ทราบว่า คปภ. ได้มีคำสั่งห้ามบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ยกเลิกกรมธรรม์ลูกค้าแล้ว) แต่อย่างไรก็ดี คปภ. ต้องยืนยันว่าต่อจากนี้จะไม่มีบริษัทประกันใด เอาเปรียบประชาชนเช่นนี้อีก โดยเฉพาะการซ้ำเติมประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิดแบบนี้

        สำหรับผู้บริโภคนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอเชิญชวนให้ผู้บริโภคแสดงพลังด้วยการไม่สนับสนุนสินค้าของ บริษัทสินมั่นคง ประกันภัย เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่สุจริต และหมดความน่าเชื่อถือต่อประชาชนแล้ว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อเสนอดังนี้
        1.ขอให้เพิ่มข้อกฎหมายที่คุ้มครองผู้ซื้อประกัน
        2. ขอให้มีการออกสัญญามาตรฐาน ที่กำหนดกรอบในการทำสัญญาประกัน
        3.ขอให้ คปภ. ออกข้อกำหนดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นต่อการทำกฎหมาย

        ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องการบอกเลิกสัญญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 386 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยข้อสัญญาหรือโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย คู่สัญญาฝ่ายนั้นสามารถแสดงเจตนาการบอกเลิกสัญญาไปยังอีกฝ่ายได้ หมดบัญญัติซึ่งเป็นหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 386 การยกเลิกสัญญามี 2 แบบ 1.โดยอาศัยข้อสัญญา 2.โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย ในกรณีถ้าอาศัยข้อสัญญา การบอกเลิกสัญญานั้น คู่สัญญาอีกฝ่ายต้องผิดสัญญาในสาระสำคัญ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จึงจะใช้สิทธิตามข้อสัญญาได้ เช่น ผู้เอาประกันปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วยหรือผู้เอาประกันภัยไม่ส่งเบี้ยประกันภัย ถึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตามข้อเท็จจริงที่เป็นข่าว ไม่พบว่า ผู้เอาประกันภัย ทำการทุจริต ปิดบังข้อเท็จจริง ไม่ชำระเบี้ยประกันตามกรมธรรม์ประกันภัยแต่อย่างใด หรือทุจริตฉ้อฉล เพื่อรับประโยชน์ตามกรมธรรม์แต่อย่างใด จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการบอกเลิกสัญญาได้ การที่บริษัทฯ บอกเลิกสัญญา เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

       การออกมาแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ของสินมั่นคงครั้งนี้มีผลต่อผู้เอาประกันหรือไม่ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่มีผล เพราะฝ่ายผู้เอาประกันไม่ได้ผิดสัญญาใดๆ หากผู้เอาประกันภัยติดโควิด-19 สามารถเคลมประกันภัยได้ หากไม่จ่ายฟ้องอย่างเดียว

       ถ้าท่านใด ได้รับจม.ยกเลิกจากบริษัท ให้ทำ จม.ปฎิเสธการบอกยกเลิกและสัญญายังคงดำเนินต่อไป (ดาวโหลดแบบฟอร์มจม.ปฏิเสธการยกเลิกประกัน-covid-19) รายการที่ 19.01, 19.02  หากท่านใดมีปัญหาต้องการร้องเรียน ติดต่อมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ผู้บริโภคที่มีปัญหาสามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตามรายละเอียดดังนี้
       1. สำเนากรมธรรม์ประกันภัย
       2. สำเนาบัตรประชาชน
       3. กรอกแบบฟอร์มร้องเรียน (ดาวน์โหลด)

ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 084-6524607, 089-7889152 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือช่องทาง inbox เพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ร้องเรียนออนไลน์เว็บไซต์ www.consumerthai.org

sinmankong1  sinmankong2

 

 

Tags: ประกันภัย, สินมั่นคง, ประกันโควิด19, คปภ., สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

พิมพ์ อีเมล