มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมผู้เสียหายจากครีมผิวขาว ‘เพิร์ลลี่’ ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 40 ล้านบาท

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 459508

press pic 21092017 news cover

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค พร้อมทนายความ นำผู้เสียหายจากการใช้เครื่องสำอางผิวขาว ยี่ห้อ เพิร์ลลี่ จำนวน 4 ราย ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายกว่า 40 ล้านบาท หลังบริษัทผู้ผลิตเพิกเฉยไม่รับผิดชอบ และยังมีเหยื่อกว่าอีก 40 ราย รอการเยียวยา จี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเอาผิด เพื่อจำกัดความเสียหาย

 

            เมื่อวันที่ 18 ก.ย.60 เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมทนายความอาสาฯ นำผู้เสียหายจำนวน 4 ราย จากการใช้ครีมผิวขาวยี่ห้อ เพิร์ลลี่ ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action กับผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 40 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551

            ผู้เสียหายทั้ง 4 รายให้ข้อมูลว่า หลังจากที่ซื้อโลชั่นดังกล่าวไปใช้ระยะหนึ่ง เริ่มมีอาการแสบคันบริเวณผิวที่แขนและขา รวมถึงบริเวณอื่นๆ ที่ใช้ครีม ปรากฏเส้นเลือดฝอย เป็นรอยแตกริ้ว จนเริ่มลามเป็นลายกว้าง แพทย์ให้ความเห็นว่า รอยแตกดังกล่าวเกิดจากการใช้สารสเตียรอยด์ ซึ่งรอยแผลไม่สามารถรักษาให้กลับมามีสภาพเหมือนเดิมได้ ผู้เสียหายรายหนึ่งได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล เมื่อหน่วยงานได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า มีส่วนผสมของสารโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol Proprionate) ซึ่งเป็นสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง

            นางสาวศรินธร อ๋องสมหวัง เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า หลังจากที่มูลนิธิได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย ได้ติดต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อนัดเจรจาไกล่เกลี่ย แต่บริษัทฯ กลับ เพิกเฉย จึงจำเป็นต้องฟ้องคดีเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม

            “นอกจากผู้เสียหาย 4 ราย ที่ได้ร่วมยื่นฟ้องคดีแล้ว ยังมีผู้เสียหายอีกกว่า 40 ราย ที่มีอาการคล้ายกันหลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องใช้การฟ้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เพื่อที่จะช่วยให้ผู้เสียหายทุกคนได้รับการชดเชยเยียวยาจากการฟ้องคดีในครั้งเดียว เป็นการดำเนินคดีทางกฎหมายที่รวดเร็วและเป็นธรรมกับผู้เสียหายทั้งหมด” เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าว

            ด้าน นายสิษฐวัศ ภาคินสกุลพัฒน์ ทนายความ ให้ความเห็นว่า การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 เนื่องจากมีผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชัดเจน ส่วนที่ฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม เพราะเห็นว่า ผู้ผลิตมีช่องทางการขายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจมีผู้เสียหายที่ยังไม่ได้ร้องเรียนอีกจำนวนมาก การฟ้องคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผู้เสียหายทุกคนได้รับการเยียวยา

            นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอย่างรวดเร็วและจริงจัง เพราะหากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังวางขายอยู่ในท้องตลาด อาจเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างกับผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นๆ ที่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอางไม่ปลอดภัย เครื่องสำอางปลอม แสดงฉลากไม่ถูกต้อง หรือมิได้จดแจ้งหรือจดทะเบียนการค้า หากหน่วยงานของรัฐเร่งเอาผิดกับผู้ประกอบการ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายในท้องตลาดลดน้อยลง ผู้บริโภคจะปลอดภัยมากขึ้น

            ทั้งนี้ ผู้บริโภคท่านใดที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่ ระบบออนไลน์ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หมายเลขโทรศัพท์ 02 248 3737 หรือร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.facebook.com/fconsumerthai

พิมพ์