8 หน่วยงานร่วมปรับโฉมฉลากขนมแบบ “สัญญาณไฟจราจร” เข้าใจง่ายขึ้น

เขียนโดย ผู้จัดการออนไลน์. จำนวนผู้ชม: 9152

ผนึกกำลัง 8 หน่วยงาน ร่วมปรับฉลากโภชนาการบนซองขนม แบบสัญญาณไฟจราจร เน้นเข้าใจง่ายขึ้น เตรียมล่ารายชื่อเสนอแนวคิดต่อนายกฯ กันผลกระทบจากการกินขนมกรุบกรอบ หลังพบเด็กไทยกว่า 5.4 แสนรายน้ำหนักเกินมาตรฐาน

วันนี้ (9 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว, สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, เครือข่ายคนไทยไร้พุง, โครงการโภชนาการสมวัย, แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน รวม 8 องค์กร ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการ “รวมพลังครอบครัว เปิดไฟเขียว ฉลากขนม” เพื่อเป็นการถ่ายทอดข้อมูลทางวิชาการและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับฉลากขนม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการบริโภคเพื่อสุขภาพ พร้อมนำเสนอฉลากขนมแบบใหม่ในรูปแบบสัญญาณไฟจราจร ซึ่งง่ายต่อความเข้าใจของผู้บริโภค

โดย รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจผู้บริโภค ในเขตกรุงเทพฯ เกี่ยวกับการอ่านข้อมูลบนฉลากโภชนาการ พบว่าส่วนใหญ่ 91% อ่านวันหมดอายุ รองลงมาอ่านส่วนประกอบ วันที่ผลิต ฉลากโภชนาการ และเครื่องหมาย อย.ตามลำดับ โดยประมาณ 40% ของผู้ที่อ่านฉลากโภชนาการระบุว่าไม่เข้าใจความหมาย และมีการเสนอให้ทำฉลากให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนั้น สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงวิจัยเกี่ยวกับสัญลักษณ์โภชนาการ

“ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าสัญลักษณ์ไฟจราจรเหมาะสมที่สุด โดยวิธีการ คือ การอ้างอิงสีจากไฟจราจร “เขียว-เหลือง-แดง” ทำในรูปแบบไฟจราจรที่ใช้วงกลม 5 วงเรียงกัน แต่ละวงเป็นตัวแทนสารอาหารและปริมาณ พลังงาน ไขมันไขมันอิ่มตัว น้ำตาล โซเดียม โดยภายในวงกลมจะระบายสีไฟจราจรสีใดสีหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณสารอาหาร ที่มีในหนึ่งหน่วยบริโภคของอาหารนั้นๆ โดยสีแดงจะหมายความว่ามีสารอาหารชนิดดังกล่าวเกินเกณฑ์ที่กำหนดมาก สีเหลืองเกินเล็กน้อย สีเขียวอยู่ในระดับที่รับที่ปลอดภัย ซึ่งน่าจะช่วยให้ผู้ปกครองและเด็กตัดสินใจเลือกซื้อขนมได้ง่ายขึ้น” รศ.ดร.ประไพศรีกล่าว

น.ส.เกณิกา พงษ์วิรัช หัวหน้าโครงการเครือข่ายเฝ้าระวังภัยรอบโรงเรียน กล่าวว่า จะมีการล่ารายชื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว และจะมีการยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้สนับสนุนแนวทางดังกล่าว ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ด้วย และเชื่อว่าหากมีการใช้ฉลากแบบสัญญาณไฟ จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กแน่นอน

นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุข 9 สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตนจะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อนำข้อเสนอดังกล่าวไปหารือ ซึ่งหากนำสู่การปฏิบัติแล้วจะส่งผลให้เกิดขนมดี เพราะปัจจุบันเด็กไทยใช้เงินซื้อขนมถึงประมาณ 8,900 บาทต่อคนต่อปี มากกว่าการใช้เงินซื้อเครื่องเขียนที่ใช้ประมาณ 400-500 บาท ต่อคนต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ยังควรที่จะมีการส่งเสริมให้เด็กบริโภคอาหารชนิดอื่นแทนขนมด้วย เช่น ผลไม้ เป็นต้น

ด้าน พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พ.ศ. 2551-2552 พบว่าเด็กไทยที่มีอายุ 1-14 ปี จำนวน 540,000 คน มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และอีก 540,000 คนอยู่ในภาวะอ้วน ในจำนวนนี้ 135,000 คนเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดย 28% ของเด็กอายุ 2-14 ปีกินขนมกรุบกรอบที่มีไขมันสูงทุกวันหรือบ่อยกว่า สอดคล้องกับการสำรวจของสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ในปี 2552 ที่ระบุว่า เด็กมีความถี่ในการกินขนมกรุบกรอบเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2546 กล่าวคือ 72% ของเด็กอายุ 2-5 ปีกินขนมกรุบกรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เด็กอายุ 6-14 ปี กินขนมกรุบกรอบทุกวัน 12% ขณะที่การกินบะหมี่สำเร็จรูป เด็กอายุ 2-5 ปี 7% กิน 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 12% ของเด็กอายุ 6-14 ปี กิน 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 มีนาคม 2554

พิมพ์