ข่าว/บทความรถโดยสาร

คปภ. กำชับบริษัทประกันจ่ายสินไหมภายใน7วันหลังเกิดอุบัติเหตุ

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 8155

คปภ.บี้บริษัทประกันจ่ายสินไหมผู้ประสบภัยจากรถตามกฎหมาย ห้ามมีข้ออ้าง หลังพบชาวบ้านเดือดร้อน ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาลไปก่อน

นางจันทรา  บูรณฤกษ์  เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  กล่าวภายหลังหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง  กรมการขนส่งทางบก  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  และสมาคมประกันวินาศภัย  ว่า  เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันกรณีประชาชนร้องเรียนว่าเมื่อประสบอุบัติเหตุต้องเข้ารักษาพยาบาลตามสถานพยาบาลต่าง ๆ  จะต้องจ่ายเงินสำรองไปก่อน  ซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุเดือดร้อน

"ได้กำชับว่า ต่อจากนี้การเกิดอุบัติเหตุบริษัทประกันจะต้องจ่ายเงินทดแทนค่าสินไหมตามกฎหมาย  โดยจะต้องไม่มีข้ออ้างใด ๆ ทั้งสิ้น" 

นางจันทรา กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535  ค่ารักษา พยาบาลเบื้องต้นอยู่ที่  15,000  บาท  ค่าปลงศพ  35,000  บาท  หากเสียชีวิตจะได้รับเงินทดแทน 100,000  บาท  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระเบียบเพิ่มสัดส่วนค่ารักษาพยาบาลจาก 15,000 บาท เป็น  50,000  บาท  เสียชีวิตจาก 100,000 บาท เป็น  200,000  บาท  และรักษาพยาบาลจ่ายรายวันจริงไม่เกิน 20  วัน  ๆ ละ 200  บาท  ที่ผ่านมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมากกว่า 8  ครั้ง และลดเบี้ยประกันภัยภาคบังคับลงมาโดยตลอด

ทั้งนี้  เมื่อประชาชนเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทันที หลังจากนั้นค่อยมาดำเนินการหักล้าง ซึ่งบริษัทประกันจะชดเชยกรณีการเกิดอุบัติเหตุภายใน 7  วัน  และให้บริษัทประกันลดขั้นตอนและเอกสารต่าง ๆ  เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด  โดยขณะนี้สมาคมประกันวินาศภัยรับปากกับ คปภ.ว่า จะลดขั้นตอนและวิธีการ พร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบของ คปภ.อย่างเคร่งครัด 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีบางบริษัทประวิงการจ่ายค่าสินไหม  จึงได้กำชับว่าหากไม่ปฏิบัติตามและประชาชนยังมีการร้องเรียน คปภ.จะดึงเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาผ่านคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับและลงโทษ  รวมทั้งประจานผ่านสื่อและเว็บไซต์ของ คปภ.อย่างน้อย 6 เดือน  ส่วนกรณีผู้ประสบอุบัติเหตุไม่ได้ทำประกันภัยนั้น  จะมอบหมายให้บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุต่อไป

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 25/8/52

พิมพ์