ข่าว/บทความรถโดยสาร

รถโดยสารสาธารณะ…กับความปลอดภัยแบบเสี่ยงดวง

เขียนโดย ปาริชาติ วิสุทธิแพทย์. จำนวนผู้ชม: 7479

คนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจเลือกโดยสารรถสาธารณะ จากการบอกกันเล่าปากต่อปากถึงคุณภาพการบริการของบริษัทรถ ความสุภาพของพนักงานบริการ สภาพรถสะอาด และความสะดวกสบายร้อยแปดประการ แต่น้อยคนนักที่จะคิดด้านความปลอดภัย และคิดจะตรวจสอบบริษัทรถโดยสารด้วยตัวเอง

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ พบว่าตั้งแต่ 1 มกราคม -- 30 พฤศจิกายน 2552 มีการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะที่รายงานผ่านสื่อมวลชนถึง 156 กรณี มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมเกือบ 2 พันราย เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,616 ราย และเสียชีวิต 164 ราย ทั้งนี้เกิดขึ้นจากรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง จากสถิติของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคพบว่า มีผู้บริโภคขอให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการ 54 ราย และที่ฟ้องร้องเป็นคดีมี 89 ราย ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด


"ความไม่รู้"
คือสาเหตุหลักของปัญหาการใช้สิทธิของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบผู้ประกอบการรถโดยสาร เพราะนอกจากจะไม่ได้รับความปลอดภัยแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็มักจะไม่ได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการ แต่ถูกผลักภาระไปที่บริษัทประกัน ความสูญเสียของผู้บริโภคถูกตีค่าเป็นเพียงค่ารักษาพยาบาล และค่าสินไหมทดแทนในวงเงินที่จำกัดเท่านั้น ความเสียหายทางครอบครัว หน้าที่การงาน และโอกาสต่างๆ ผู้บริโภคกลายมาเป็นผู้รับผิดชอบเสียเอง ดังนั้นการตระหนักรู้สิทธิของตัวเอง จึงน่าจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเอาเปรียบผู้บริโภคได้


{xtypo_rounded2}
สิทธิสำหรับผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเป็นจริงครบถ้วน
2. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ
3. สิทธิในการเลือกใช้บริการด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงอันไม่เป็นธรรม
4. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในทุกๆด้านจากการใช้บริการ
5. สิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
6. สิทธิในการร้องเรียน หรือฟ้องร้องเพื่อให้ได้รับการแก้ไขปัญหา เยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
7. สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่นๆที่ถูกละเมิด
8. สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลา และไม่ถูกบังคับ กดดันให้ต้องจำยอมประนีประนอมยอมความโดยไม่เป็นธรรม
9. สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายด้วยหลักแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
10. สิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและผู้อื่น
{/xtypo_rounded2}

สิทธิมีเราต้องใช้

การใช้สิทธิเมื่อเกิดอุบัติเหตุมีอยู่ 3 ขั้นตอน ขั้นแรกผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต จากบริษัทประกันภัยของรถโดยสารที่เกิดเหตุ โดยจะต้องดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 180 วันหลังจากเกิดเหตุ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจ สำเนากรมธรรม์ประกัยภัยรถที่เกิดอุบัติเหตุ ในกรณีที่เสียชีวิตต้องเตรียมสำเนาใบมรณะบัตร และสำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทมาด้วย

ในขั้นที่สอง
นั้นสามารถใช้สิทธิเรียกร้องจากกรมธรรม์ภาคสมัครใจและบริษัทรถโดยสาร จากความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน และค่าเสียโอกาสอื่นๆ หรือที่เราเรียกกันว่า ค่าทำขวัญ โดยมีข้อควรระวังคือ การลงลายมือชื่อในการรับค่าสินไหมทดแทนทั้งจากบริษัทประกันและบริษัทรถยนต์ หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือข้อตกลงใดๆ ว่าผู้เสียหายยอมรับเงินโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทแล้ว จะทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

ขั้นสุดท้าย
สิทธิการเรียกร้องทางกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค สามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล และติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือเขียนเองโดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มจาก www.consumerthai.org โดยฟ้องคดีได้ที่ศาลในภูมิลำเนาของผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องฟ้องร้องภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่ทราบความเสียหาย ในส่วนของผู้ที่ทำละเมิดโดยตรงคือ คนขับรถและบริษัทรถ แต่ในส่วนของบริษัทประกันนั้นเราสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่ทราบถึงความเสียหาย

พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจารถ พ.ศ.2535 นั้นบังคับให้รถทุกคันต้องจัดให้มีความคุ้มครองด้านชีวิตและร่างกายของผู้ประสบภัยนั้น ระบุไว้ว่าผู้เสียหายจะได้รับค่าชดเชยเบื้องตามกฎหมายภายใน 7 วัน ซึ่งกรณีบาดเจ็บนั้น จะชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามจริงไม่ เกิน 15,000 บาท แต่หากว่าเสียชีวิตทันที่ จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาลจะได้รับการชดใช้ทั้งเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพรวมกันไม่เกิน 50,000 บาท

แต่ถ้าหากว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือชีวิตเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจารถ พ.ศ.2535 แล้ว บริษัทประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิดจะชดใช้เพิ่มเติมจากค่าเสียหายเบื้องต้น ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว ส่วนกรณีที่บาดเจ็บ จะต้องชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริง รวมแล้วไม่เกิน 50,000 บาท หรือหากเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ รวมแล้วจำนวน 100,000 บาท และนั่นคือสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ประสบภัยรจะได้รับ

นอกจากความไม่รู้ อีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาการใช้สิทธิ คือ ผู้เสียหายไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ในกรณีที่จะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาล ทั้งความเชี่ยวชาญในด้านการเขียนคำฟ้อง การหาพยายาน หรือแม้แต่ทนายความ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ความพยายามใช้สิทธิของผู้เสียหายลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน

การใช้สิทธิผ่านช่องทางการร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงน่าจะช่วยลดภาระต่างๆ ให้กับผู้เสียหายได้ หากมีข้อสงสัย หรือมีปัญหาในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย หรือผู้ประกอบการรถโดยสาร ก็สามารถขอคำปรึกษา หรือขอให้มูลนิธิช่วยเจรจาต่อรอง หรือฟ้องร้องค่าเสียหายแทนได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

จากกรณีของ นายธีรเมธ บัวเข้ม ต้องสูญเสียภรรยา และใบหูข้างซ้ายไปในอุบัติเหตุรถปรับอากาศประจำทาง นครราชสีมา-กรุงเทพฯ บริษัทราชสีมาทัวร์ ชนกับรถกระบะ และรถปรับอากาศอีกคันหนึ่งของบริษัทเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 หลังจากได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์แล้ว บริษัทรถโดยสารได้ยื่นข้อเสนอชดเชยการบาดเจ็บและการสูญเสียภรรยา 300,000 บาท ซึ่งเทียบไม่ได้กับความสูญเสียของเขา และลูกสาววัยเพียง 8 ขวบ ที่ต้องสูญเสียแม่ตลอดชีวิต

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงแจ้งให้เขาทราบถึงสิทธิของตัวเอง ภายหลังเขาจึงตัดสินใจฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อบริษัทรถโดยสาร ผ่านความช่วยเหลือของศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 13,307,672 บาท


"ใจผมนะอยากให้มีกฎหมายออกมาเลย อย่างรถคันนี้ เกิดอุบัติเหตุจ่ายที่นั่งละเท่าไร บาดเจ็บจ่ายเท่าไร ไม่ต้องให้เราไปคอยตาม ไปเรียนรู้เองจากประสบการณ์จริง คือมันไม่ใช่ไง เหตุการณ์แบบนี้มันไม่น่าเกิด"

ตอนนี้โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ พยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคตื่นตัวกับการใช้สิทธิในการใช้รถโดยสารสาธารณะ โดยมีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำชุดคู่มือนักเดินทาง "รถโดยสาร ปลอดภัย" แจกให้ผู้บริโภคที่ต้องใช้รถโดยสาร ภายในมีสิทธิควรรู้ทั้ง 10 ประการ ข้อมูลการติดต่อมูลนิธิฯ และบันทึกการเดินทาง ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการบันทึกจะนำมาจัดอับดับรถโดยสารยอดเยี่ยม-ยอดแย่ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนอีกด้วย

รถโดยสารปลอดภัยเราเลือกนั่งได้

แม้จะมีกระบวนการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม อันเกิดจากความเสียหายหลังได้รับอุบัติเหตุ แต่การป้องกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยไว้ก่อนย่อมดีที่สุด สำหรับข้อแนะนำในการขึ้นรถโดยสารทุกครั้ง คือ ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการรถโดยสารสองชั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านจุดสมดุล รถโดยสารที่ดีต้องมีส่วนที่เป็นโครงเหล็กมากกว่ากระจก บนรถต้องมีเข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง หรืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เบาะที่นั่งต้องยึดติดมั่นคง และมีเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อศูนย์บริการได้

การช่วยกันดูแลสอดส่องการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะ เรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ยามเมื่อเกิดอุบัติเหตุ นอกจากจะทำเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเองแล้ว ยังเป็นการช่วยกระดับคุณภาพการบริการโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากลอีกด้วย



อ่านเรื่องที่เกีียวข้อง
>> โครงการส่งเสริมสนับสนุนผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

พิมพ์