ข่าว/บทความรถโดยสาร

TPBS พร้อมหนุนภาคีขับเคลื่อนกิจกรรม "อุบัติเหตุทางถนน" เต็มตัว

เขียนโดย นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว. จำนวนผู้ชม: 4284

TPBS พร้อมหนุนภาคีขับเคลื่อนกิจกรรม "อุบัติเหตุทางถนน"  ด้านผู้บริโภค เปิดตัว“เครือข่ายเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยรถสาธารณะ” ของเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 5 ภูมิภาค ในงานสัมมนาอุบัติเหตุแห่งชาติครั้งที่ 10 วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2554 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ ไบเทค บางนา

 

 

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) นำทีมภาคีขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยทางท้องถนนประกอบด้วย คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดนำร่อง (สอจร.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NECTEC) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เข้าพบนายก่อเขตต์ จันทเลิศลักษณ์ บรรณาธิการ รายการข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทีมงานบรรณาธิการรายการสถานีประชาชน และฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทีมงานสื่อสารสาธารณะ เพื่อร่วมหารือในการทำงานเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนด้าน มาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ และการผลักดันให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยรถสาธารณะ

 

นายแพทย์ธนะพงศ์  จินวงษ์  กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนนโดยเฉพาะโดยสารสาธารณะเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข ปีนี้ทางรัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติด้านความปลอดภัยทางท้องถนน ดังนั้นภาคีที่ขับเคลื่อนด้านอุบัติเหตุเห็นว่า สื่อมวลชน มีอิทธิพลกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการตื่นตัวของผู้บริโภคที่ติดตามรับชม และกระตุ้นเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนทันท่วงที

 

“ในต่างประเทศ สื่อมวลชนมีบทบาทหลักในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การติดตามผล ทำให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิด้านความปลอดภัยของตนเอง ตัวอย่างที่เห็นอย่างชัดเจนคือ กรณีที่สื่อมวลชนอังกฤษนำเสนอข่าวนักท่องเที่ยวที่มาเสียชีวิตในเมืองไทยสูงสุด จนทำให้เมืองไทยกลายเป็นเมืองอันตรายในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวต้องออกมาเตือนนักท่องเที่ยวของเขาให้ระมัดระวังกรณีที่ต้องเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย จุดนี้เองคือพลังของสื่อที่เห็นเป็นรูปธรรม ดังนั้น การขับเคลื่อนโดยภาควิชาการ และภาคประชาชนจึงต้องการส่วนสนับสนุนจากสื่อมวลชนเป็นฟันเฟืองในการขยับขยายงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน” นายแพทย์ธนะพงศ์ กล่าว

 

นายก่อเขตต์ จันทเลิศลักษณ์ กล่าวว่า “ ไทยพีบีเอสยินดีให้การสนับสนุนการนำเสนอข่าวสาร สกู๊ป รายการ และจะติดตามประเด็นอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งเห็นว่าต้องเชื่อมโยงทั้งระบบคือ คนขับ ตัวรถ ถนน และระบบขนส่งสาธารณะ  รูปแบบการทำงานที่ได้ผลลัพธ์จริงต้องเกาะติดกระแส เช่น ทำเป็นซีรีส์ โดยหยิบยกปัญหาขึ้นมา มีผู้เดือดร้อน หรือเคสจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวต้องออกมาแสดงบทบาทความรับผิดชอบ และที่สำคัญต้องมีข้อเสนอและทางออกให้กับประชาชนด้วย โดยเฉพาะการส่งต่อไปยังระดับสูงเช่นรัฐบาล เพื่อจะใช้วางนโยบายเป็นวาระเร่งด่วน”

 

การประชุมครั้งนี้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NECTEC) ได้นำเสนอนวตกรรมใหม่เป็น Application ตรวจวัดความเร็วของการขับขี่ ขณะที่นั่งโดยสารผ่านมือถือ Smartphone หากเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบจะแจ้งเตือนไปยังศูนย์รับข้อมูลเครือข่าย เช่น กรมขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร เครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยฯเพื่อจะสามารถป้องกันปัญหา และแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียที่จะตามมา

 

พร้อมกันนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเปิดตัว “เครือข่ายเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยรถสาธารณะ” ของเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 5 ภูมิภาค ในงานสัมมนาอุบัติเหตุแห่งชาติครั้งที่ 10 วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2554 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ ไบเทค บางนา โดยสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในฐานะภาคีเครือข่ายเฝ้าระวัง จะเปิดประเด็นผ่าน รายการข่าว รายการสถานีประชาชน ช่องทาง Facebook และทวิสเตอร์ เพื่อปลุกกระแสกับผู้บริโภค โดยจะเริ่มขับเคลื่อนร่วมกันในเดือนสิงหาคมนี้

โดย นางสาวสวนีย์  ฉ่ำเฉลียว

เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

พิมพ์