ข่าว/บทความรถโดยสาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จับมือไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่แจ้งข่าวเพื่อความปลอดภัยรถสาธารณะ

เขียนโดย นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว. จำนวนผู้ชม: 3654

วันที่ 1 ก.ค. 54ที่อาคารสำนักงานใหญ่ สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส (Thai PBS)เครือข่ายลดอุบัติเหตุทางท้องถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกัน และ แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดนำร่อง (สอจร.) ศูนย์ความปลอดภัยทางท้องถนน (ศวปถ.) องค์การอนามัยโลก (WHO) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เข้ามอบช่อดอกไม้และของที่ระลึกเพื่อแสดงความขอบคุณและให้กำลังใจกับ นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นความปลอดภัยของรถสาธารณะ พร้อมทั้งร่วมหารือในการทำงานร่วมกัน เพื่อเปิดพื้นที่เฝ้าระวัง อันตรายบนท้องถนน สำหรับประชาชนโดยทั่วไป

ปี 2552 ประเทศไทยประกาศให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนมีจำนวน 10,717 คน ถัดมาปี 2553 มีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 10,644 คน ลดลงจากปี 2552 เพียงแค่ 73 คน แม้จะมีการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ หรือมีการตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนขึ้นมาแล้วก็ตาม

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกัน และ แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดนำร่อง หรือ สอจร. กล่าวว่า “ อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นใกล้บ้านและร้อยละ 50 ของอุบัติเหตุเกิดขึ้นที่ถนนสายรอง สำหรับการแก้ไขปัญหาต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยซึ่งจะช่วยลดผู้เสียชีวิตลงได้มากถึงร้อยละ 30 “

นอกจากนี้ นางมัวรีน เบอร์มิ่งแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกได้เดินทางมาที่ไทยพีบีเอส เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญกับการลดการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิต ให้มีการกำหนดนโยบายและสนับสนุนงบประมาณในการทำงาน โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลก ที่มีเป้าหมายให้แต่ละประเทศลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ร้อยละ 50 ภายในเวลา 10 ปี

นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา  หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  กล่าวว่า จากการดำเนินการโครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ พบว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ถึงปัจจุบันอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะที่สื่อมวลชนนำมาเผยแพร่กว่า 500 กรณี มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 9,000 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 714 ราย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงความเสียหายส่วนหนึ่งเท่านั้นที่สื่อมวลชนถ่ายทอดให้เราเห็น

“เครือข่ายผู้บริโภค ขอยื่นหนังสือ ข้อเสนอแนะเพื่อการยกระดับมาตรฐานรถสาธารณะ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการรถโดยสาร หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยประเด็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ 3 ด้าน คือ ด้านความปลอดภัย รถโดยสารประจำทาง ระยะไกล และรถตู้ควรมีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยให้กับผู้โดยสารทุกที่นั่งและแนะนำให้ผู้โดยสารใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้งตลอดการเดินทาง สองด้านการให้ข้อมูลข่าวสารและบริการแก่ผู้ใช้บริการ พนักงานบริการ ควรมีระบบให้ข้อมูลกับผู้โดยสาร เช่น ระยะเวลาการเดินทาง จุดพักรถ ชื่อพนักงานขับรถ และข้อมูลที่จำเป็นอื่น ๆ ในการเดินทาง และ สามมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือจัดตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น โดยอาจพิจารณาให้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 โดยกองทุนฯ มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ สนับสนุนส่งเสริมการประกอบการรถโดยสารสาธารณะให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น และเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ใช้บริการที่ถูกละเมิดสิทธิเพิ่มเติมจากความคุ้มครองที่ผู้ประสบภัยได้รับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยเน้นการเยียวยาความเสียหายที่รวดเร็ว ไม่ต้องมีการรอพิสูจน์ถูกผิด และเป็นธรรม” นายอิฐบูรณ์  กล่าว

สำหรับสถานีสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ได้เปิดพื้นที่สำหรับการแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะที่ใช้บริการแล้วอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่

เวบไซต์ http://www.thaipbs.or.th
ข้อความ
: หมายเลข 4268822 (1.50.-/ครั้ง)
โทรศัพท์ : 0-2790-2111, 0-2790-2222
Email : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Website : www.thaipbs.or.th/saveYourLife
Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSFan
Twitter : @ThaiPBS (ติดแท็ก #THBus)

นางสาวสวนีย์  ฉ่ำเฉลียว

โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ รายงาน

พิมพ์