ยาลดอ้วน ต้องให้หมอดูแล ซื้อกินเองไม่ได้

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 10168

600815 content fat
แม้จะมีข่าวการเสียชีวิตจากการรับประทานยาลดความอ้วนให้เห็นเป็นระยะ แต่การโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนมากมายทางอินเทอร์เน็ตก็ยังมีให้เห็นเกร่อ รวมถึงการโอนถ่ายปลูกฝังค่านิยม “ขาว ผอม ผมยาวตรง คือความสวยของผู้หญิง” การพยายามดูแลรูปร่างให้เป็นที่ยอมรับในสังคมจึงไม่ใช่เรื่องผิด หลายคนออกกำลังกาย และอีกหลายคนเลือกที่จะรับประทานยาลดความอ้วน

รู้ไว้ใช้สิทธิ์ พาคุณไปคุยกับพชร แกล้วกล้า ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า ยาลดความอ้วนนั้นไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีสูตรยาตัวใดเลยที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ โดยทาง อย.ไม่ให้ซื้อมารับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะยาลดความอ้วนต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และไม่สามารถหาซื้อนอกร้านขายยาได้
“เราไม่แนะนำให้ผู้บริโภคลดความอ้วนโดยทางลัด แต่แนะนำให้ระวังการใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หากต้องการใช้ ให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากกว่าคลินิก และแนะนำให้ใช้การควบคุมน้ำหนักแบบธรรมชาติ อย่างการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เนื่องจากการใช้ยาลดความอ้วน ก็เหมือนการใช้ยาสเตียรอยด์ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้” ผู้ช่วยเลขาฯ กล่าว

และยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยาในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 แบบ นั่นก็คือ ยาสามัญ กับยาควบคุมเฉพาะ ซึ่งยาลดความอ้วนก็อยู่ในยาควบคุมเฉพาะ ที่จะขายในร้านขายยา และต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น รวมถึงยาลดความอ้วนที่ใช้กันบางตัวยังมีส่วนผสมของยาไซบูทรามีน โดยลักลอบใช้ผสมให้สัตว์กิน เช่น หมู เพื่อให้เนื้อสัตว์มีสีแดงมากขึ้น ซึ่งยาตัวนี้มีอันตรายต่อหัวใจ อย.เลยห้ามใช้ยาตัวนี้ใส่ในอาหาร
มาดูข้อมูลจาก นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเคยสำรวจ “รูปแบบการจ่ายยาลดน้ำหนัก” ของคลินิกต่างๆ ทั่วประเทศ และเมื่อนำยาไปตรวจวิเคราะห์แล้วพบว่า มีรูปแบบการจ่ายยาดังนี้
1.ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว ชนิดเดียว
2.ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว สองชนิด
3.ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยาระบาย
4.ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยาระบาย+ยานอนหลับ
5.ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว สองชนิด+ยาระบาย+ยานอนหลับ
6.ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยาระบาย+ยาลดอาการใจสั่น
7.ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+ยานอนหลับ
8.ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมความหิว+วิตามินบี 1
9.ไม่ทราบว่าเป็นยากลุ่มใด โดยผู้ที่สนใจสามารถอ่านผลการสำรวจเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ฉลาดซื้อ www.chaladsue.com

หากดูความหมายนั้น “อาหาร” หมายถึง วัตถุทุกชนิดที่นำมากิน ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ เพื่อเสริมโภชนาการให้แก่ร่างกาย ขณะที่ “ยา” หมายถึง วัตถุที่มีการรับรองไว้ในตำรายาที่รัฐมนตรีประกาศ ใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ โดยที่ “ยาไซบูทรามีน” นั้นได้ถูก อย.ถอนออกจากทะเบียนยาแล้ว เนื่องจากมีผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจ

จากข้อมูลย้ำให้เห็นว่าการใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของเราเอง ลองหันมาดูแลสุขภาพด้านโภชนาและออกกำลังกายควบคู่กัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสุขภาพการและสุขภาพใจ คุณว่าไหม

พิมพ์