เครือข่ายผู้บริโภคเผย ยังพบโฆษณาทีวีดาวเทียม-เคเบิ้ลทีวีผิดกฎหมายเพียบ

54505

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 10 จังหวัด ยื่นหนังสือต่อ อย. และกสทช. ย้ำให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งคัด พร้อมผนึกกำลังทำงานเชิงรุก

วันนี้ (24 มี.ค. 58) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัดยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมเผยผลการศึกษาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2557 ซึ่งในระยะเวลา 3 เดือน พบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอื้อและเป็นช่องที่ทำผิดบ่อยครั้ง

นายสุนทร สุริโย ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค จังหวัดกาญจนบุรี ระบุว่า การโฆษณาผิดกฎหมายทางเคเบิ้ลทีวีและดาวเทียมเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยมีเนื้อหาหลากหลาย เน้นการลดน้ำหนัก – ลดความอ้วน ขาว–สวย–ใส และรักษา–บำบัด–บรรเทา–ป้องกัน สารพัดโรคตั้งแต่หัวจรดเท้า ซึ่งเด็กและผู้สูงอายุที่ชมอยู่ทางบ้านไม่ทราบว่าผิดกฎหมายจึงสั่งซื้อทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

“การมายื่นหนังสือครั้งนี้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มาเพื่อตอกย้ำว่าเรายังคงพบการกระทำผิดที่มีโฆษณาที่ผิดกฎหมายอยู่ และเครือข่ายเรียกร้องให้ อย. และกสทช.ยกระดับการดำเนินการกับช่องรายการกระทำความผิดซ้ำซาก เพราะช่องที่เครือข่ายมอนิเตอร์พบ มักเป็นช่องที่เปิดเข้าไปดูเมื่อไรก็พบโฆษณาที่โอ้อวด เกินจริงเกือบ 100%” นายสุนทร กล่าว

83840

ทางด้าน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า หลังจากทำข้อตกลง (MOU) ระหว่างสำนักงาน กสทช. และช่องรายการต่างๆ ก่อนออกอากาศ ในช่วงแรกแต่ละช่องมีความระมัดระวังการนำโฆษณาและรายการต่างๆ มาออกอากาศได้ดี แต่ช่วงหลังพบว่าเริ่มมีการโฆษณาและรายการที่มีลักษณะเข้าข่ายโอ้อวด เกินจริงมากขึ้น ในแนวทาง กสทช. จะมีการกำกับ ดูแลที่เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งโฆษณาที่ผิดกฎหมายจะส่งผลกับการต่อใบอนุญาตอีกด้วย

“ในปีนี้นอกจากจะมีการทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ทางสำนักงาน กสทช. ได้ตั้งงบประมาณสำหรับการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยเฉพาะการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมาย เพื่อเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ทั้งวิทยุและโทรทัศน์” นางสาวสุภิญญา กล่าว

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ในช่วงระยะที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.ได้ส่งเทปบันทึกของช่องรายการต่างๆ ให้อย. ตรวจสอบว่าโฆษณาหรือรายการใดที่ไม่ได้รับอนุญาตการโฆษณาจาก อย.ที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โอ้อวด เกินจริง ซึ่ง อย.มีคำสั่งระงับ และปรับ มีหลายช่องที่ถูกปรับเป็นเงินมหาศาล จนมีบางช่องรายการทำหนังสือมาขอผ่อนผันการจ่ายค่าปรับเนื่องจากต้องปิดกิจการไป

“การจัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยาในสื่อที่ผิดกฎหมาย เป็นนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญมาก ดังนั้นการร่วมมือกันหลายภาคส่วนเช่นนี้ทำให้ปัญหานี้ดีขึ้นเป็นลำดับ” ภก.ประพนธ์ กล่าว

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

พิมพ์ อีเมล