หนุนขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก่อนวางตลาด หลังพบขายอื้อ ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยง

590622 news jiraporn
จากกรณีที่มีผู้บริโภครับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหมามุ่ยแคปซูลแล้วเสียชีวิตนั้น

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ให้ความเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก่อนออกสู่ตลาดดำเนินการเพียงขอจดทะเบียน/แจ้งรายละเอียดกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากนั้นจึงสามารถออกสู่ตลาดได้ ซึ่งนโยบายแบบ Post Marketing หรือกระบวนการตรวจสอบหลังการขออนุญาตนี้ใช้เพื่อกำกับแต่ไม่ใช่การควบคุม คือ ให้บริษัทรับผิดชอบเองหากเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภค

“การให้แค่จดทะเบียน/แจ้งรายละเอียดแทนขึ้นทะเบียนเป็นปัญหาของนโยบายนี้ ซึ่งในฐานะนักวิชาการไม่เห็นด้วย คือมันไม่ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญว่าสารต่างๆ มีปริมาณเท่าไหร่ถึงจะดี จึงเกิดความหละหลวม ดังนั้น อันตรายที่เกิดจากอาหารอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะส่งผลกระทบมากขึ้น อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทั้งที่ควรถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดก่อนให้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีขายเยอะไปหมด โดยเฉพาะการขายตรงและออนไลน์” กรรมการ กพย. กล่าว

รศ.ดร.จิราพร ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะใส่สารหลายอย่าง แม้จะเป็นสิ่งที่รับประทานได้ แต่หากใส่มากเกินไปหรือใส่สารที่เป็นอันตรายอาจทำให้เกิดปัญหา ซึ่งการจัดการแก้ปัญหาตามหลังมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการตรวจสอบในตอนต้น อีกทั้งการอำนวยความสะดวกให้เอกชนโดยใช้เพียงการจดทะเบียน/แจ้งรายละเอียดนี้ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคอ่อนแอลง จากเหตุการณ์นี้ อย.ไม่สามารถดำเนินการแม้แต่การเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืนได้

กรรมการ กพย.ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดขึ้นจริง เพราะจะมีหน่วยงานดูแลผู้บริโภค ทำหน้าที่แทนผู้บริโภค เป็นหูเป็นตา กระตุ้นหรือช่วยหน่วยงานรัฐให้ออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ คือ ประเทศไทยรับนโยบายจากอาเซียนมาแล้วว่าห้ามใส่หมามุ่ยในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ อย.ยังไม่ออกกติกามากำกับ การมีองค์การอิสระฯ จะช่วยผลักดันให้หน่วยงานรัฐออกกติกามากำกับใช้ในประเทศได้

พิมพ์ อีเมล