นักวิชาการ คอบช.เรียกร้องผู้บริโภคควรได้รับความเป็นธรรมเรื่องที่อยู่อาศัย

581006 pichome

นักวิชาการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ด้านที่อยู่อาศัย เรียกร้องรัฐและภาคธุรกิจ ให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่อาศัยมากขึ้น ไม่ใช่เพียงมีนโยบายสร้างที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ต้องคอยกำกับดูแลให้ผู้บริโภคได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน เพราะมีผู้ร้องเรียนผิดสัญญาซื้อขาย สร้างไม่ได้มาตรฐาน


สถานการณ์ผู้บริโภคด้านที่อยู่อาศัย ที่ถือเป็นปัจจัย 4 สำหรับผู้บริโภค จากข้อมูลสถิติเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคปี 57 -58 พบว่ามีผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเข้าร้องเรียนจำนวนกว่า 175 ราย ในกลุ่มร้องเรียน แบ่งของกลุ่มปัญหาได้คือ

581006 picnews

และพบว่าลักษณะปัญหาของเรื่องร้องเรียนที่มีจำนวนมากจะเป็นเรื่อง ผิดสัญญาซื้อขาย สร้างไม่ได้มาตรฐาน ชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะเรื่อง ผิดสัญญาก่อสร้างล่าช้า ซึ่งมีจำนวนปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ซึ่งปัญหาก่อสร้างล่าช้าและสร้างไม่ได้มาตรฐานพบในกลุ่มบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม ส่วนปัญหาเรื่องการผิดสัญญาซื้อขาย พบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ซื้อบ้านเอื้ออาทร (การเคหะแห่งชาติ) ที่ไม่สามารถผ่อนจ่ายค่างวดได้ตรงตามเวลาที่กำหนด จนเป็นเหตุถูกยึดที่อยู่อาศัย หรือถูกให้ทำสัญญาใหม่ที่เอาเปรียบ

นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ได้ให้ความเห็นว่า การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในภายใต้ภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงที่ผ่านมาใน อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาในด้านที่อยู่อาศัยหลายประเด็น ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ ทำให้เกิดความสับสนต่างๆ กับผู้บริโภคในการใช้สิทธิเรียกร้อง อย่างในกรณีของบ้านหรืออาคารชุดที่สร้างแล้วชำรุดบกพร่องไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา หากมีหน่วยงานกลางซึ่งทำหน้าที่ตรวจบ้านหรืออาคารชุด ก็จะเป็นที่พึ่งให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจต่อการซื้อหาบ้านหรืออาคารชุด ต่างๆ มากขึ้น

“สาเหตุสำคัญมาจากการไม่มีหลักประกันอะไรให้กับผู้บริโภคว่าเมื่อ เกิดปัญหาแล้วจะมีทางออกให้กับผู้บริโภคอย่างไร โดยผู้บริโภคมักมีปัญหาตั้งแต่ทำสัญญา หรือหลังจากทำสัญญา หรือโอนกรรมสิทธ์แล้วไม่สามารถอยู่ได้ เพราะ ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ถูกขับไล่ อีกทั้งกลุ่มปัญหาเกิดได้ทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่มคณะ ขณะที่หน่วยงานหรือกลไกที่มีหน้าที่กำกับดูแลกลับไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะ รับประกันสิทธิผู้บริโภคได้ ดังนั้นการต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมอาจต้องแลกด้วยหลายสิ่ง หลายอย่าง” นักวิชาการด้านกฎหมาย (คอบช.) กล่าว

นายโสภณ กล่าวต่อไปว่า เนื่องในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก จึงอยากขอให้ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่อาศัยมากขึ้น ไม่ใช่แค่มีนโยบายสร้างที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ต้องกำกับดูแลให้ผู้บริโภคได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เท่าทันในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนทางผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบ ใช้สัญญามาตรฐานตามกฎหมาย และสร้างบ้านโดยใช้วัสดุที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และตัวผู้บริโภคเอง หากจะทำสัญญาซื้อที่อยู่อาศัยก็ต้องตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบการ และศึกษาสัญญาให้ดีก่อนทำสัญญา เพื่อรักษาสิทธิของตนเอง

พิมพ์ อีเมล