รวมพลังขับเคลื่อน “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน”

610308 news2
มพบ. สช. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน เพื่อให้มีน้ำดื่มที่ปลอดภัยและราคาเป็นธรรม ดีเดย์วันที่ 30 เม.ย. 61 ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขต กทม. 50 เขตเพื่อจัดการตู้น้ำดื่มเถื่อน ในกรุงเทพมหานคร 

วันนี้ (8 มี.ค. 61) ที่ รร.เซนจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดประชุมแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน” ติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2559 เรื่องน้ำดื่มที่ปลอดภัย โดยวันนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งองค์กรผู้บริโภค ร่วมติดตามมติสมัชชา รับฟังข้อเสนอแนะและขับเคลื่อนมติให้เกิดการปฏิบัติได้จริง และเสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ


โดยในเวที นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานผลการศึกษาวิจัยตู้น้ำดื่มซึ่งทำร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร พบว่า มีผู้ประกอบกิจการมาขออนุญาตประกอบกิจการถึง 1,117 ราย แต่มีผู้ได้ใบอนุญาตเพียง 92 ราย และพบปัญหาที่พบ ในการสำรวจตู้น้ำดื่มในพื้นที่ 32 เขตของกรุงเทพมหานคร ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ไม่มีการติดฉลากคำเตือนและคำแนะนำ และการติดตั้งตู้น้ำดื่มไม่เป็นไปตามคำแนะนำ เช่น ตั้งริมฟุตบาท ตู้มีสภาพเก่า มีสนิม


610308 news1
เครือข่ายผู้บริโภคได้แจ้งว่า มีการจัดเวทีคืนข้อมูลให้สำนักงานเขต และติดตามผลข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพบปัญหาว่า สาเหตุที่ประกอบการไม่มาขอใบอนุญาต เพราะมีค่าธรรมเนียมสูงถึง 2,000 บาทต่อตู้ และทางสำนักงานเขตไม่สามารถยึด อายัดตู้เพราะกลัวกระทบกับผู้บริโภคในพื้นที่อาจไม่มีน้ำบริโภค แต่ไม่ได้คำนึงเรื่องสุขลักษณะของน้ำดื่ม โดยเสนอให้มีมาตรการจัดการตู้น้ำดื่มเถื่อน โดยร่วมกันกำหนดนิยาม และเสนอให้เครือข่ายผู้บริโภคขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานเขตปฏิบัติการเพื่อจัดการตู้น้ำดื่มเถื่อน และในวันที่ 30 เมษายน จะรวมพลังผู้บริโภคติดป้ายตู้น้ำดื่มร่วมกันทั่วกรุงเทพมหานคร
ด้านผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ชี้แจงความคืบหน้า ว่าที่ผ่านมามีเพียงการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่ม แต่ยังไม่มีการเปรียบเทียบปรับ เพราะจากการสำรวจพบว่าตู้น้ำดื่มดังกล่าวหลังจากที่ผู้ประกอบการนำมาติดตั้ง เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งจะขายโอนให้กับเจ้าของพื้นที่ติดตั้ง ทำให้การตรวจสอบลำบากมากขึ้น และในเรื่องฉลากไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องขออนุญาต โดยผู้ผลิตและนำเข้าสามารถจัดทำได้เอง แต่ต้องมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด และ สมอ. แจ้งว่าอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานตู้น้ำดื่มทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายนปีนี้
ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าว ได้มติข้อเสนอร่วมกันดังนี้


1. มีมาตรการติดป้ายตู้น้ำดื่มเถื่อน โดยให้สำนักงานเขตปฏิบัติการร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคในการขับเคลื่อนเพื่อจัดการตู้น้ำดื่มเถื่อน
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นผู้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานความคืบหน้า

พิมพ์ อีเมล