'ผู้บริโภค' รุกฟ้องคดี 'อาคารชุด' ทวงค่าคอนโด หลังพบสร้างไม่เสร็จตามกำหนด

press pic 290860 cover

ผู้เสียหายจากโครงการอาคารชุดแห่งหนึ่งใน ต.หนองปรือ อ.บางละมุง ผิดสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุด สร้างไม่เสร็จตามกำหนด ห้องจริงไม่เหมือนตัวอย่าง สุดท้ายยื่นฟ้องศาลด้วยตนเองจนได้เงินคืน

            ผู้เสียหายจากโครงการอาคารชุดรายหนึ่ง ร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าตนได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดกับบริษัทธุรกิจคอนโดแห่งหนึ่งใน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อเดือน มี.ค.58 ซึ่งในสัญญาผู้จะขายได้ระบุว่าคอนโดจะสร้างเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ตนจึงได้ทำการจองห้องไว้เป็นจำนวน 2 ห้อง แต่เมื่อครบกำหนดห้องดังกล่าวก็ไม่แล้วเสร็จ โดยตนได้ทำการสอบถามความคืบหน้างานก่อสร้าง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากโครงการแต่อย่างใด

            นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคฯ กล่าวถึงกรณี มีผู้เสียหายรายหนึ่งเข้ามาร้องเรียนว่า “ช่วงปลายเดือน พ.ค.60 ผู้ร้องได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ให้ไปตรวจรับห้อง จึงได้นัดดูห้องกัน ในวันที่ 4 มิ.ย.60 แต่เมื่อเดินทางไปถึงปรากฎว่าห้องดังกล่าวไม่เหมือนกับห้องตัวอย่างที่ทางโครงการเคยจัดให้ชม จึงได้แจ้งให้ทางเซลล์แก้ไขเรื่องวัสดุและสีห้อง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด จนเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.60 จึงได้รับจดหมายแจ้งให้ไปตรวจรับห้องอีกครั้ง พร้อมกับข้อความระบุให้ดำเนินการโอน ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับจดหมาย เหมือนเป็นการบีบบังคับให้รับโอน ทั้งที่ทรัพย์ยังไม่มีความพร้อม ผู้ร้องจึงตัดสินใจขอยกเลิกสัญญาและขอเงินดาวน์คืนทั้งหมด”

            “ผู้เสียหายอีกรายที่มาร้องทุกข์กับศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ซึ่งได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโครงการเดียวกันนี้ เล่าให้ฟังว่า ตนได้ทำสัญญากับบริษัทเมื่อเดือน มี.ค.58 และได้มีการผ่อนชำระค่าห้องจนครบตามกำหนดสัญญา แต่จนเดือน มี.ค.59 บริษัทก็ยังก่อสร้างคอนโดไม่เสร็จตามกำหนด อีกทั้งขนาดพื้นที่ห้องก็เกินจากที่ระบุในสัญญาว่า 29 ตารางเมตร ซึ่งปรากฎว่าเมื่อก่อสร้างจริงห้องมีขนาด 31.45 ตรม. ซึ่งเกินมาถึงร้อยละ 8.45 ของขนาดเดิมที่ระบุไว้ในสัญญา แล้วก็เป็นแบบนี้คล้ายกันทุกๆ ห้อง ที่เป็นแบบแปลนเดียวกัน ซึ่งน่าสงสัยว่ามีเจตนาจงใจโฆษณาให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องขนาดห้องหรือไม่” เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าว

            นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ผู้เสียหายทั้งสองที่เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ทางเราได้ให้คำปรึกษาในการเรียกร้องสิทธิ การที่ผู้บริโภคทั้งสองได้ฟ้องคดีด้วยตนเองนั้น เป็นสิ่งที่น่าชมเชย ซึ่งผลปรากฎว่าศาลได้นัดไกล่เกลี่ยจนผู้เสียหายได้รับเงินคืนจากคู่กรณีเกือบทั้งหมด”

            “ผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีที่เป็นคดีผู้บริโภคได้ด้วยตนเอง กรณีของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ทำผิดสัญญาก่อสร้างมีจำนวนไม่น้อย เช่น ก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด คุณสมบัติห้องไม่ตรงกับห้องตัวอย่าง หรือแม้กระทั่งไม่ได้จัดให้มีสระว่ายน้ำ สถานบริการฟิตเนสอย่างที่ได้โฆษณาไว้จริง ถ้าขอยกเลิกสัญญาแล้วโครงการบ่ายเบี่ยง หรือไม่แสดงความรับผิดชอบ ก็สามารถฟ้องคดีเป็นคดีผู้บริโภคได้ ซึ่งตามกฎหมายวิธีพิจารณคดีผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมีทนายความผู้ร้อง รวมทั้งไม่มีค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ก็ยินดีที่จะสนับสนุนและให้คำปรึกษา” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าว

            นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “จากกรณีทำสัญญาซื้อขายคอนโด ขอแนะนำผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อ ควรขอสัญญามาศึกษาอย่างละเอียดก่อน ผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายได้ หากผู้ขายกระทำผิดสัญญา เช่น โครงการก่อสร้างล่าช้า เสร็จไม่ทันตามกำหนด และหากพบว่า ภายหลังสร้างไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินที่ผ่อนไปคืนได้ โดยทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังผู้ขาย ส่วนกรณีตรวจห้องพบว่า มีขนาดพื้นที่เกิดกว่าร้อยละ 5 จากในสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก คือ จะรับไว้ โดยชำระตามราคาที่เพิ่มขึ้น หรือบอกปัดไม่รับ และทำหนังสือบอกเลิกสัญญาก็ได้”

            “สัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดนั้น จะต้องมีสาระสำคัญที่เป็นไปตามแบบสัญญามาตรฐาน อ.ช. 22 ของกรมที่ดิน ซึ่งก่อนจะตัดสินใจเซ็นสัญญา ผู้บริโภคต้องตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่าสัญญานั้นถูกต้องตามแบบ อ.ช. 22” นายโสภณกล่าว

             ทั้งนี้ ผู้เสียหายทั้งสองได้เข้ารับการไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีตามคำสั่งของศาลจนได้รับเงินคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังมีผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องคดีด้วยตนเองและรอศาลนัดไกล่เกลี่ยอีกจำนวนหนึ่ง

ลิ้งก์ดาวน์โหลด: แบบสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด (อ.ช. 22) (http://www.dol.go.th/lo/sst/mt05173tv17301.pdf)

พิมพ์ อีเมล