ศาลอุทธรณ์พิพากษารถโดยสารเปรมประชา จ่ายค่าเสียหายเพิ่ม เหตุวิ่งรถประมาทร้ายแรง

600502 pic2
ศาลอุทธรณ์สั่งเปรมประชา จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ เหตุวิ่งรถประมาท ด้านผู้บริโภคหวังผลคดีนี้สร้างมาตรฐานบริการรถโดยสารสาธารณะ

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.60 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ห้องพิจารณาคดีที่ 13 ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีนายลำพูน และนางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข จำเลยที่ 1 และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด จำเลย 2 เป็นคดีผู้บริโภค ฐานละเมิดและผิดสัญญารับขนคนโดยสาร เรียกค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ (ฟ้องเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558)

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 กรณีรถโดยสารประจำทางของบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด พลิกคว่ำที่ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเหตุให้นายวรัญญู อยู่สุภาพ บาดเจ็บสาหัส และบุตรสาวของนายลำพูน - นางทอง เจริญเกียรติ เสียชีวิต เหตุครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย และบาดเจ็บมากถึง 61 ราย โดยหลังการสืบข้อเท็จจริงพบว่า รถโดยสารคันเกิดเหตุไม่ได้ทำประกันภัยภาคสมัครใจ และบริษัท เปรมประชาขนส่ง ที่ให้บริการอยู่ระหว่างการถูกฟ้องล้มละลาย

สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ให้นายอิ่นแก้ว มูลสุข จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 2 นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย และให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้นายลำพูน -นางทอง เจริญเกียรติ และนายวรัญญู อยู่สุภาพ และต่อมา บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน ประกอบกับเหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ขับรถประมาทด้วยความเร็วสูงลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งที่สามารถป้องกันได้ จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรับผิดชอบด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวก ร่วมกันชำระเงิน แก่ นายลำพูน และนางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000 บาท และชำระเงินให้กับ นายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นเงิน 186,740 บาท กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ให้กับ นายลำพูน - นางทอง เจริญเกียรติ และนายวรัญญู อยู่สุภาพ อีกรายละ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ด้านนายลำพูน เจริญเกียรติ กล่าวว่า เกือบ 3 ปีแล้ว ตั้งแต่เกิดเหตุตนไม่เคยลืมความทุกข์แม้แต่วันเดียว

“พวกเราต้องการได้รถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน เราอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการให้บริการของบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดียวในเส้นทางเชียงใหม่ไปแม่สะเรียง จึงตัดสินใจรวมกลุ่มกันมาฟ้องเป็นคดี และ หากบริษัท เปรมประชาขนส่ง จะยังขอฎีกาคำพิพากษาต่อ พวกเราก็พร้อมจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด ไม่ยอมแพ้แน่นอน” นายลำพูน กล่าว

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาในวันนี้ รู้สึกพอใจกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นถึงพฤติกรรมประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคจนมีคำพิพากษาเชิงลงโทษในครั้งนี้

“อยากเห็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีอื่นๆเหมือนคดีนี้ ซึ่งคำพิพากษาเชิงลงโทษในคดีนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญของผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสารสาธารณะที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภคที่ใช้บริการ เพราะยังมีผู้ประกอบธุรกิจบางรายที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 นี้อยู่ ” นายคงศักดิ์ กล่าว

พิมพ์ อีเมล