ผู้บริโภคโอดถูก กยศ.ฟ้อง 2 ศาลให้ชำระหนี้ โอ้ละพ่อจ่ายหมดเป็น 10 ปี

600303 news1
ผู้บริโภคโอดถูก กยศ.ฟ้องซ้ำ 2 รอบ หลังตรวจสอบพบจ่ายหนี้หมดแล้ว พร้อมชี้แจงระบบจัดเก็บมีปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเสนอควรสรุปยอดหนี้รายปีให้ลูกหนี้



ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นายศุภกร แสงโพธิ์ กรณีตนถูกกองเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฟ้องซ้ำข้อหาผิดสัญญากู้ยืมและผิดสัญญาค้ำประกัน ถึง 2 ครั้ง
โดยปี 2540 ตนนั้นได้กู้ยืมเงินจำนวน 16,018 บาท เป็นทุนการศึกษาในระดับ ปวช.และก่อนจบได้เปลี่ยนชื่อจากบุญญฤทธิ์ เป็น ศุภกร จนถึงปัจจุบัน และได้ยื่นกู้ต่อเพื่อเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งได้ชำระหนี้เป็นรายเดือนมาโดยตลอด จนปี 2550 ได้รับหมายศาล ครั้งที่ 1ให้ชำระเงินจำนวน 16,018 บาท ซึ่งได้จบในชั้นไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 25 ก.ค.50 โดยตนได้แสดงหลักฐานการชำระเงินต่างๆ จนครบถ้วน และทางตัวแทนของ กยศ.ก็ชี้แจงว่าระบบการเก็บข้อมูลนั้นยังเป็นระบบแบบกรอกข้อมูลด้วยมือ ทำให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เพราะมีการเปลี่ยนชื่อ และได้ถอนฟ้องไป ซึ่งวันที่ 19 ส.ค.56 ตนได้ชำระหนี้ที่กู้ยืมทั้งหมดทั้ง ปวช.และปริญาตรี ครบถ้วน

ต่อมาในปี 2559 กลับได้รับหมายศาลด้วยข้อหาเดิมให้ไปชำระเงินจำนวน 16,018 บาท หลังการไกล่เกลี่ย หลังการแสดงเอกสารการการชำระเงินต่างๆ ที่ทำสำเนาขอจาก ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นตัวแทนรับชำระ ทาง กยศ.จึงขอถอนฟ้อง

นายศุภกร แสงโพธิ์ กล่าวว่าตนไม่เข้าใจระบบการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งตนนั้นได้ชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทย แม้จะเปลี่ยนชื่อ แต่เลขบัตรประชาชนยังใช้หมายเลขเดิมในการลงระบบต่างๆ อยากให้มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลแบบออนไลน์แล้ว ปัญหาทำนองนี้จะได้ไม่เกิดขึ้น

“การถูกฟ้องถึง 2 ครั้งมันไม่สนุกส่งผลกระทบกับชีวิตตัวเองและครอบครัวอย่างมาก ทั้งต้องลาหยุดงาน ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ต้องเดินทาง เสียเวลา เสียประวัติ ถ้าเป็นไปได้ขอให้กองทุนฯ พัฒนาระบบของตัวเองให้ทันสมัยเพราะต่อไปผมก็ไม่รู้ว่าจะถูกกองทุนฯยื่นฟ้องอีกหรือไม่” นายศุภกรกล่าว

ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าการที่ผู้บริโภคถูกฟ้องถึง 2 ครั้งนั้นถือเป็นความผิดพลาดด้านการจัดการข้อมูลของ กยศ. เอง ก่อนฟ้องควรจะมีการตรวจสอบให้ชัดเจน ซึ่งหาก กยศ. มีผู้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากควรที่จะมีการพัฒนาระบบการให้ทันสมัยในอนาคต และเมื่อมีการผ่อนชำระคืน ควรมีการสรุปยอดหนี้ให้ลูกหนี้รับทราบในแต่ละปี พร้อมให้คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค

“ผู้บริโภคเองก็ควรเก็บหลักฐานการกู้และการชำระเงินไว้ให้ดี หากชำระหนี้ กยศ. เสร็จสิ้นแล้วควรทำหนังสือให้ กยศ. ออกเอกสารการปิดบัญชี เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันหากถูกฟ้องทั้งที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าว

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล