สมอ. และ อย.ชี้ชัด ขายเครื่องสำอางของเล่นเด็ก ‘Barbie’ โดยไม่ได้รับอนุญาต

baby1
สมอ.และ อย.ระบุ โซลิด เอ็นเตอร์ไพรซ์ นำเข้าเครื่องสำอางของเล่นเด็ก Barbie โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วน สคบ.เงียบกริบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือน อาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่

จากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำเสนอข่าวกรณีผู้บริโภคซื้อของเล่นเด็ก ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องสำอางยี่ห้อ Barbie จากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต นนทบุรี แล้วพบว่าสินค้าดังกล่าวหมดอายุตั้งแต่ก่อนนำเข้าสินค้า และมูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวนั้น

นายพชร แกล้วกล้า ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิฯ ให้ข้อมูลว่า ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทำหนังสือตอบกลับมายังมูลนิธิฯ ว่า จากการตรวจสอบบริษัท โซลิด เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด บริษัทฯ ที่นำเข้าสินค้าดังกล่าว พบว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ.ให้นำเข้าผลิตภัณฑ์นั้น จึงได้ยึดและอายัดผลิตภัณฑ์ไว้ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามกฎหมาย ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งผลการดำเนินการเรื่องร้องเรียนว่า อย.ได้ตรวจสอบสถานที่นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเล่นดังกล่าวแล้ว พบการกระทำผิด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับผู้นำเข้าเพื่อขาย/ผู้ขายเครื่องสำอางที่ไม่จดแจ้ง หมดอายุ และแสดงฉลากไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๕๘

นายพชร ให้ความเห็นว่า จากการชี้แจงของหน่วยงานทั้ง ๒ ทำให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาต แล้วบริษัทฯ นำเข้ามาขายได้อย่างไร ซึ่งหน่วยงานรัฐควรมีระบบการตรวจสอบที่ดีกว่านี้ เพราะถือว่าบริษัทฯ กำลังทำผิดกฎหมายอยู่ เนื่องจากหน้าที่ของผู้นำเข้าสินค้าคือต้องแจ้งว่านำสินค้าเข้ามาขาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง หรือของเล่นก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องสำอางถือเป็นวัตถุอ่อนไหวต่อการใช้งาน ซึ่งต้องจดแจ้งกับ อย.

“หน่วยงานรัฐปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะสินค้าถูกขายในห้างใหญ่ และเป็นสินค้าหมดอายุ อีกทั้งสินค้าก็มีลักษณะก้ำกึ่งในขอบเขตอำนาจ คือ เป็นของเล่นเด็กที่มีลักษณะคล้ายเครื่องสำอาง ฉะนั้นใครควรเป็นคนชี้ขาด เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าอยู่ในอำนาจความรับผิดชอบของใคร เพราะทาง อย.เองก็ตีความว่าเป็นเครื่องสำอาง” ผู้ช่วยเลขาธิการฯ กล่าว

นายพชร กล่าวต่อไปว่า ทางมูลนิธิฯ ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย แต่ทาง สคบ.ไม่เคยมีหนังสือตอบรับหรือชี้แจงกลับมาแต่อย่างใด ซึ่งหากหน่วยงานต่างๆ ที่มูลนิธิฯ ทำหนังสือให้ชี้แจงหรือตรวจสอบไป หากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ ก็ควรชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องอย่างไร เพราะการไม่ตอบรับใดๆ อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

ผู้ช่วยเลขาธิการฯ เสนอว่า หน่วยงานรัฐควรปฏิบัติงานตามมาตรฐานการดำเนินงานของรัฐ แต่ไม่ควรทำให้ล่าช้า หากมาตรฐานในการทำงานล่าช้าก็ต้องปรับปรุง และรายงานความคืบหน้าให้สาธารณะทราบ ไม่ใช่ส่งเรื่องร้องเรียนไปแล้วเงียบหาย ไม่แจ้งความคืบหน้า คือ รัฐอาจจัดทำรายงานสินค้าไม่ปลอดภัย หรือรายงานสถานการณ์การร้องเรียนให้ผู้ร้องตรวจสอบได้ ว่าอยู่ในขั้นตอนใด เช่น ขั้นตอนการไกล่เกลี่ย หรือดำเนินคดี เป็นต้น

ผู้ช่วยเลขาธิการฯ กล่าวว่า ไม่ควรให้กรณีเช่นนี้จบไปเหมือนสายลม แต่ควรรวบรวมสรุปให้เป็นบทเรียน หรือกรณีศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ รวมถึงเป็นแนวทางสำหรับผู้บริโภค ที่อาจพบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยรายงานให้สาธารณะรับรู้ ซึ่งยังไม่มีองค์กรใดที่ทำเรื่องนี้โดยตรง แต่หากมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภค

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ บริษัทโซลิดฯ ส่งหนังสือใบอนุญาตมายังมูลนิธิฯ โดยแจ้งว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเข้าสินค้าใดๆ ที่ไม่ตรงตามใบอนุญาต โดยบริษัทฯ ดำเนินการขอใบอนุญาตกับ สมอ.มาตลอด และมีใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายฉบับ พร้อมกับส่งตัวอย่างใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ดี เอกสารที่บริษัทฯ ส่งมาไม่มีใบอนุญาตของผลิตภัณฑ์ตัวที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
มพบ. เตือนพ่อแม่ซื้อเครื่องสำอางของเล่นเด็ก ระวังหมดอายุ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาผู้บริโภคใน ๑ เดือน

พิมพ์ อีเมล