องค์กรผู้บริโภคจับมือ สคบ. จี้ กทช.ออกประกาศจัดการบริษัทมือถือกำหนดวันหมดอายุ

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นข้อเรียกร้อง สคบ. เรียกเงินคืนจากบริษัทมือถือ หลังเจรจาเห็นพ้อง จี้ให้ กทช.ออกประกาศให้บริษัทยกเลิกการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน และหาวิธีคืนเงินให้กับผู้บริโภค

 

Consumerthai – วันนี้ (21 ธ.ค.) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค นำโดยนายกำชัย  น้อยบรรจง ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง เข้ายื่นหนังสือต่อนายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค ขอให้ดำเนินการแก้ปัญหาให้การกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินสัญญาเรื่องให้ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543

นายกำชัย  กล่าวว่าจากกรณีที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินทุกเครือข่ายซึ่งมีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้มือถือทั้งระบบ ได้ถูกบริษัทผู้ให้บริการกำหนดอายุการใช้งานโทรศัพท์ระบบเติมเงิน  ซึ่งเป็นการเร่งรัดให้ผู้บริโภคต้องเร่งใช้ เร่งเติมเงิน ภายในระยะเวลาที่ผู้ให้บริการกำหนด เช่น 10 บาทต้องใช้บริการภายใน 1 วัน 50 บาทต้องใช้บริการภายใน 5 วัน หรือ หากจะให้โทรศัพท์ใช้งานได้ในระยะเวลา 1 เดือน ต้องเติมเงินถึง 300 บาททีเดียว แม้ว่าผู้บริโภคจะใช้เงินค่าโทรศัพท์ไม่หมด หรือยังมีเงินเหลืออยู่ในระบบก็จำเป็นต้องหาเงินมาเติมให้กับผู้ให้บริการล่วงหน้า เพื่อให้โทรศัพท์ยังสามารถใช้งานได้  ไม่ให้ถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ ไม่ให้ถูกยึดเงินในระบบและเพื่อรักษาเบอร์โทรศัพท์ของตนไว้

“บริษัทผู้ให้บริการเป็นผู้เขียนกติกาขึ้นมาเอง ทั้งที่ขัดต่อประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 11 เรื่องมาตรฐานสัญญาการให้บริการโทรคมนาคมลักษณะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการที่เป็นการล่วงหน้า จะต้องไม่มีข้อกำหนด ที่บังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด”

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีประกาศว่าด้วย สัญญาเรื่องให้ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 และที่ผ่านมายังไม่มีการควบคุมใดๆ ปล่อยให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากถูกบังคับให้ต้องเติมเงินในระยะเวลาที่สั้นเกินสมควร และถือสิทธิอันไม่ชอบในการยึดเงินในระบบของผู้บริโภคไปทั้งหมดหากเติมเงินไม่ทัน

นายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หลังรับหนังสือกล่าวว่าบทบาทหน้าที่ของ สคบ.ไม่ได้กว้างขวางอย่างที่ผู้บริโภคคาดหวังไว้ เพราะกรณีเรื่องนี้มีพรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ควบคุมไว้แล้ว แต่ถึงแม้ว่าจะมีการบัญญัติหน้าที่ไว้ก็ตาม ก็ยังไม่มีอำนาจในการดำเนินการ ซึ่งก็ต้องส่งเรื่องมาที่ สคบ.จัดการให้

“ที่ผ่านมาก็มีการหารือกันระหว่าง สคบ.กับ สบท.ถึงทางออกต่อปัญหานี้ ซึ่งเราก็ไม่ได้นิ่งเฉยหากมีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนกรณีที่ถูกยึดเบอร์หรือยึดเงินในโทรศัพท์ เราก็จะดำเนินการเรียกผู้ประกอบการให้เข้ามาเจรจาถึงวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อเรียกผู้ประกอบการมาก็จะตกลงกันด้วยดี หรือหากตกลงกันไม่ได้ก็จะดำเนินการฟ้องร้องแทนผู้บริโภค หรือการไกล่เกลี่ยหรือฟ้องคดีแทนผู้บริโภค แต่นี่ก็เป็นการแก้ปัญหาทีละรายเท่านั้น เพราะ สคบ.ไม่มีอำนาจในการประกาศออกข้อบังคับกับผู้ให้บริการได้ อำนาจหน้าที่ส่วนนี้จะอยู่ที่ กทช.ซึ่งเป็นผู้ถือกฎหมายนี้ที่ต้องออกประกาศเรื่องเงื่อนไขเวลาและต้องมีความชัดเจน” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว

 

พร้อมกล่าวเสริมว่า ผู้บริโภคท่านใดที่มีปัญหาถูกผู้ให้บริการตัดหรือยึดเงิน สามารถเข้าร้องทุกข์กับ สคบ.ได้

พิมพ์ อีเมล