แถลงการณ์ ถึงเวลาแพทยสภาต้องมีคนนอก


แถลงการณ์ ถึงเวลาแพทยสภาต้องมีคนนอก

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วย และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพ รุกแพทยสภา และเรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขแก้กฎหมายให้มีตัวแทนจากบุคคลภายนอกเป็นคณะกรรมการแพทยสภา เพราะการมีเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ทำให้ขาดความเข้าใจสังคม เอื้อประโยชน์โรงพยาบาลเอกชน และโดยเฉพาะคณะกรรมการที่เป็นเจ้าของและผู้บริหารของโรงพยาบาลเอกชนเป็นกรรมการตัดสินใจมีผลประโยชน์ขัดแย้ง


ตามที่แพทยสภาได้รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาษาอังกฤษ (English program) ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะจำนวนอาจารย์แพทย์ ไม่ได้เพิ่มขึ้น ทุกอย่างเท่าเดิม แต่เมื่อมีผู้เรียนมากขึ้นแถมยังกำหนดให้ได้เรียนกับอาจารย์ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนรวยเท่านั้น เพราะใช้เงินไม่น้อยกว่า 7 ล้านบาทในการเรียนแพทย์หลักสูตรนี้ ดังนั้นกระทบกับหลักสูตรปกติที่ให้โอกาสทุกคนในการเข้าเรียนแน่นอน

การอ้างว่า คณะที่จะดำเนินการเปิดสอนหลักสูตรได้จะต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยของตน ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของแพทยสภา เป็นการปัดความรับผิดชอบ เพราะแพทยสภาควรเสนอให้คณะแพทย์ มศว. ขอความเห็นชอบหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยก่อน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการเรียน รวมถึงละเอียดเรื่อง ค่าเทอม การจัดการและความพร้อม ตลอดจนกำหนดการเปิดรับนักศึกษาเป็นต้น ไม่ใช่ทำผิดขั้นตอนโดยเห็นชอบข้อเสนอจากคณะแพทย์โดยตรงทั้งที่ยังไม่ผ่านสภามหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ตาม พรบ. ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ตาม มาตรา 7 (5) แพทยสภามีวัตถุประสงค์ในการให้คำแนะนำแก่รัฐในประเด็นสุขภาพและปัญหาทางการแพทย์ ดังนั้นการให้ข่าวของแพทยสภาที่อ้างว่า แพทยสภาไม่ได้มีหน้าที่ในด้านนโยบาย medical hub และแพทย์ต่างชาติ(อินเตอร์)นั้น เพราะเป็นเรื่องของนโยบายประเทศ เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและหน่วยกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นจริง เพราะแพทยสภามีหน้าที่โดยตรงในการให้คำแนะนำเรื่องนี้ และสะท้อนให้เห็นว่า การตัดสินใจขาดความเข้าใจวัตถุประสงค์ของตนเองและขัดต่อกระบวนการที่ดีในการตัดสินใจทางนโยบายที่ส่งผลต่อผู้ใช้บริการสาธารณสุข ผลประโยชน์สาธารณะ ตัดสินใจโดยไม่รับฟังความเห็นผู้แทนผู้บริโภค ผู้ป่วยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม และกระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติ

เพราะหากแพทยสภามีหน้าที่รับรองหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภาเพื่อให้มีสิทธิสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น น่าจะผิดวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งเพราะกระทำการไม่ต่างจากการอนุญาตสอบใบขับขี่รถยนต์ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขกฎหมายประกอบวิชาชีพเวชกรรม พศ. 2525 ให้คณะกรรมการแพทยสภามีบุคคลภายนอก ดังเช่นกรรมการแพทยสภาในหลายประเทศที่มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์เป็นกรรมการ เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ แคนาดา อินโดนีเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย ไอซ์แลนด์ มาลาวี อังกฤษและสิงคโปร์ที่มีกรรมการบุคคลภายนอกมากถึง 50 % เพราะการตัดสินใจของแพทยสภาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสังคม กระทบต่อสาธารณะเกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุขที่เป็นบริการจำเป็นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นจึงต้องโปร่งใส มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง และมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมพิจารณา เพราะการผลิตแพทย์หลักสูตรภาษาอังกฤษนี้ หากพิจารณาให้ดีก็เหมือนการเตรียมการตอบสนองโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียน (Medical Hub) นั่นเอง

ขอแสดงความนับถือ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัด ใน 46 จังหวัด
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์
ชมรมเพื่อนโรคไต คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา สมาคมผู้บริโภคขอนแก่น สมาคมผู้บริโภคสงขลา
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

พิมพ์ อีเมล