เชือด! ‘เอนไซม์เจนิฟู้ด’ ‘ซันคลาร่า’ ‘เกร็กคู’กระตุ้นรัฐคุมสื่อ ‘ทีวีดาวเทียม’ปิดรูโหว่ผู้ค้าลวงผู้บริโภค

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 9102

ภาครัฐจับตาสื่อ “ทีวี ดาวเทียม” กสทช. เชือด โฆษณาสินค้า “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” “ซันคลาร่า” และ “เกร็กคู” หลังอย.ยื่นเรื่องประชาสัมพันธ์โอเวอร์สรรพคุณครอบจักรวาล พร้อมเตรียมตั้งกรรมการวางแผนแก้ปัญหา ผู้ค้าใช้สื่อ “ทีวีดาวเทียม” ลวง ผู้บริโภค ด้านอย. วอนประชาชนอย่าหลงเชื่อสินค้าสรรพคุณป้องกันและรักษาโรค ชี้ผลข้างเคียงอาจอันตรายพาร่างกายทรุด!

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและ โทรทัศน์ (รส.) สำนักงาน กสทช. ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้ากรณีการดำเนิน งานของ กสทช. เรื่อง การแจ้งระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู้ด ซันคลาร่า และเกร็กคู ไปยังผู้ประกอบกิจการช่อง ดาวเทียม โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์ เอนไซม์เจนิฟู้ด ซันคลาร่า และ เกร็กคู ไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อประสานไปยัง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้ต่อไป และได้ขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุทุกช่องรายการให้ความร่วมมือระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร และยา ที่ไม่ได้รับอนุญาตและขัดต่อกฎหมาย ดังกล่าว

นอกจากนี้ กสทช.กำหนดเตรียมจัด พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่องการกำกับ ดูแลโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรือมีลักษณะเป็น การเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (MOU) ระหว่าง สำนักงาน กสทช. กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความ ผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พร้อมตั้งคณะทำงานเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในวันอังคารที่ 6 มิ.ย.นี้ ณ หอประชุมชั้น 1 สำนักงาน กสทช.

สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบ จากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการดังกล่าวมิให้ดำเนินการ ใดๆ ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตาม มาตรา 27 (13) และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เพื่อให้สิทธิของผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองในการรับข้อมูลข่าวสารที่เป็น ความ จริง และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการ โฆษณาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม รวมทั้งได้รับการแก้ไข เยียวยาความเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีมติแจ้งระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ เอนไซม์เจนิฟู้ด ซันคลาร่า และเกร็กคู ไปยัง ผู้ประกอบกิจการช่องดาวเทียม ผู้ประกอบ กิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ (เคเบิลทีวี) ที่ได้มา ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงาน กสทช. รวมไปถึง สถานีโทรทัศน์ที่เป็นผู้ประกอบการรายเดิม

ตามที่สำนักงาน อย. ได้พิจารณาไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมถึงกรณีที่พบว่า มี การโฆษณาในลักษณะที่มีเนื้อหาเข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง และฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมีสถานภาพอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี โดยผลทางคดียังไม่ถึงที่สุด ได้กำหนดเป็นหลักการ ให้พิจารณาระงับการออกอากาศโฆษณาที่มี ลักษณะดังกล่าวไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สุด เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ กสทช. กำลังจัดทำ หลักเกณฑ์ กติกาต่างๆ ในการเข้าสู่ระบบ ดิจิตอลหากผู้ประกอบการธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ ยังไม่ปรับตัวต่อความรับผิดชอบในการคุ้มครองผู้ครองผู้บริโภคและสังคมใน อนาคตอาจประสบปัญหาในการขอรับใบ อนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีคุณภาพและคำนึงถึงสังคม

โดยในช่วงก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้พิจารณาแนวทางการให้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการตรวจสอบและยุติการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งเสนอโดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผ่านกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์ กรณี การเผยแพร่ออก อากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์ “เอนไซม์เจนิฟู้ด” “ซันคลาร่า” และ “เกร็กคู” ซึ่งที่ประชุม กสท. ได้พิจารณาแล้ว มี มติว่า ตามที่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า อย. ได้มีข้อสรุปแล้วว่า การโฆษณาออกอากาศ โฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู้ด ซันคลาร่า และเกร็กคู เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง และได้ส่งเรื่องดำเนินคดีพร้อมแจ้งระงับโฆษณาดังกล่าว ในชั้นนี้จึงเห็นสมควรที่จะออกมาตรการชั่วคราวเพื่อเป็นการเยียวยาหรือ ระงับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้แจ้ง กับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทุกช่องเพื่อทำ การระงับการเผยแพร่ออกอากาศการโฆษณา ดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าจะมีคำตัดสินถึงที่สุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนั้น กสท.มีมติเห็นชอบการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับ การปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในกิจการกระจายเสียงและ กิจการ โทรทัศน์ เนื่องจากที่ผ่านมา อย.ได้เฝ้าระวัง การโฆษณาเกินจริงและฝ่าฝืนกฎหมายแพร่ภาพผ่านสัญญาณดาวเทียม โดยมีการ ดำเนินคดีพร้อมแจ้งระงับการโฆษณาแล้วแต่ยังมีการแพร่ภาพรายการดังกล่าวอยู่ ตนได้ขอความร่วมมือกับตัวแทนบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทยินดีประสาน ความร่วมมือในการติดตามและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่ออกอากาศ ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กสท.จะนำเข้าพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในการประชุมครั้งต่อไป

อย่างไรก็ดี ในส่วนของอย. ทาง น.พ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า หลังจาก อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ซันคลาร่า” ที่โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงทางวิทยุชุมชน แผ่นพับ และเว็บไซต์ http://www.starsunshine.com เกรงว่าจะมีการหลอกลวงประชาชน เพราะมีข้อความ โฆษณาสรรพคุณป้องกันโรคต่างๆ ซึ่ง อย. ได้ตรวจสอบทันที พบว่า มีการโฆษณา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ซันคลาร่า” ทางแผ่นพับ วิทยุ และเว็บไซต์ดังกล่าวจริง โดยระบุข้อความโฆษณา เช่น “...ผิวสวย หน้าใส ภายในกระชับ ช่วยให้ผนังเส้นเลือดโดยเฉพาะเส้นเลือดดำ (veins) มีความแข็งแรง เพิ่มขึ้น ต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันเบาหวาน ช่วยให้น้ำหนักลดลง ป้องกันความผิดปกติของผิวหนัง ป้องกันโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์...” เป็นต้น

ทั้งนี้ อย. ได้ตรวจสอบข้อความโฆษณาดังกล่าว ปรากฏว่าไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาจาก อย. แต่อย่างใด ดังนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โดยได้ดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ ซันไชน์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับว่าเป็นผู้จัดทำข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ พร้อมทั้งมีหนังสือไปยังบริษัท เพื่อระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังกล่าว ในทุกสื่อแล้ว

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่สำคัญ อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกัน หรือรักษาโรค นอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็น แล้ว หากท่านมีโรคประจำตัว อาจได้รับผล ข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยคาด ไม่ถึงได้ พร้อมทั้งขอให้ผู้ประกอบการทุกรายเห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภค ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม อย่าโฆษณาด้วยวิธีต่างๆ ในลักษณะที่เกินเลยความเป็นจริง มิฉะนั้น อย. จะดำเนินการ ตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด หากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริง เช่น รักษาได้สารพัดโรค ช่วยในการลดน้ำหนัก ช่วยเรื่องผิวพรรณ เป็นต้น ผ่านทางสื่อต่างๆ หรือ โฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อโดยการขายตรง ขอให้แจ้งร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อทางราชการจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ข้อมูลจาก นสพ.สยามธรกิจ
[ ฉบับที่ 1305 ประจำวันที่ 2-6-2012  ถึง 5-6-2012 ]

พิมพ์