เด้งเซ่น"ซานติก้าผับ" ผอ."วัฒนา-ปทุมวัน"

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 4114

ปลัด กทม.เด้ง ผอ.เขตวัฒนา-ปทุมวัน ช่วยราชการสำนักปลัด กทม.ชั่วคราว เซ่นซานติก้า ผับ หลังพบมี จนท.ปลอมลายเซ็นวิศวกรออกแบบและคุมงานก่อสร้างอาคาร "จงรัก"แจงยังไม่ปิดคดี แค่สรุปเฉพาะคนผิดทำให้เกิดเพลิงไหม้ ยังรอผลทีมสอบยุติธรรมเล่นงานผู้เกี่ยวข้องความผิดฐานอื่นอีก กรมคุ้มครองสิทธิฯอนุมัติจ่ายเงิน 3.5 ล้านบาทช่วยเหลือเหยื่อเสียชีวิต 45 ราย


นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม ภายหลังคณะทำงานชุดตรวจสอบสาเหตุเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สรุปผลสอบข้อเท็จจริงระบุเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตวัฒนา อาจต้องร่วมรับผิดกับเจ้าของซานติก้า ผับ หลังพบว่ามีการปลอมลายเซ็นของวิศวกรผู้ออกแบบ และวิศวกรผู้คุมงานก่อสร้าง ว่า ขณะนี้ลงนามคำสั่งให้นายวรพจน์ อินทุลักษณ์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา และนายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน อดีตผู้อำนวยการเขตวัฒนา ไปช่วยราชการที่สำนักปลัด กทม. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 มกราคมเป็นต้นไป ทั้งนี้เป็นเพียงคำสั่งให้ไปช่วยราชการเท่านั้น ไม่ได้มีการเซ็นปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการเขตแต่อย่างใด

 

นายพงศ์ ศักติฐ์กล่าวว่า สำหรับผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุดที่มีนายชาตินัย เนาวภูต ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) เป็นประธานนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรม คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ผลสอบเบื้องต้นระบุว่า พบความผิดปกติในส่วนของอาคารที่เกิดเหตุ ซึ่งคงจะต้องรอผลการตรวจสอบอีกครั้งว่ามีเจ้าหน้าที่ของ กทม.รายใดเข้าไปมีส่วนพัวพันซึ่งจะต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในเหตุดังกล่าว และกำชับให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวสรุปผลสอบเร็วที่สุดด

ด้านนายสุ รเกียรติ ผู้อำนวยการเขตปทุมวันซึ่งถูกคำสั่งไปช่วยราชการจากกรณีเหตุเพลิงไหม้ซานติ ก้า ผับ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า กำลังช็อคกับคำสั่งที่เกิดขึ้น ขอไม่ให้รายละเอียดใดๆ ขณะนี้ และว่าจะขอหารือกับปลัด กทม.ก่อน เนื่องจากคำสั่งย้ายดังกล่าวถือเป็นเรื่องความเป็นความตาย และมีผลกระทบกับตำแหน่ง ทั้งนี้จะขอใช้เวลาในช่วงนี้เพื่อทบทวนในสิ่งที่ได้ทำลงไป

ขณะที่นาย ชาตินัย เนาวภูต ประธานคณะกรรมการสอบฯ กล่าวว่า คณะกรรมการขอขยายเวลาสอบสวนออกไปอีก 15 วัน หลังจากที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีรายละเอียดและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ประกอบกับมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากกระทรวงยุติธรรม 2 คน เข้าร่วมตรวจสอบด้วย และนัดประชุมในวันที่ 30 มกราคมนี้

รายงานข่าว แจ้งว่า การสอบสวนที่ผ่านมา คณะกรรมการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ปากคำ จำนวน 15 ปาก ขาดเพียงอดีตเจ้าหน้าเขตวัฒนาเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ยังไม่เข้ามาให้ปากคำ ซึ่งเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวทำหน้าที่เป็นนายตรวจ แต่ได้เกษียณราชการไปเมื่อ 2 ปีก่อน ทั้งนี้ หากสุดท้ายยังไม่มีการเข้ามาให้ปากคำ คณะกรรมการก็จะสรุปผลสอบเท่าที่มีหลักฐานปรากฏ โดยล่าสุดคณะกรรมการเพิ่งจะได้แบบอาคารซานติก้า ผับ มาตรวจสอบ จากที่ก่อนหน้านี้เขตวัฒนาอ้างว่าค้นหาไม่พบ และหลังจากคณะกรรมการตรวจสอบแบบอาคารแล้ว พบว่ามีการใช้อาคารผิดประเภท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอาคารพักอาศัยมาเป็นสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต

ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ ว่า ยืนยันคดีนี้ยังไม่จบ เพียงแต่การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้ เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตครบถ้วนแล้ว มีผู้ต้องหาทั้งสิ้น 6 คน คงไม่มีเพิ่มกว่านี้แล้ว

"แต่ในส่วนการสอบ สวนด้านอื่นๆ ก็ยังคงดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป โดยเฉพาะการดำเนินการตามผลสรุปของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอาจมีความผิดฐานอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วยสามารถดำเนินคดีได้ โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับการดัดแปลงอาคาร เกี่ยวกับการเสียภาษี ซึ่งปกติแล้วความผิดเหล่านี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เป็นผู้เสียหายโดยตรง รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมที่ตรวจสอบ และรู้ใครผิดฐานใดบ้าง ซึ่งหากส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการก็แจ้งข้อหาเพิ่มเติมได้ เพราะเป็นต่างกรรม ต่างวาระกัน ซึ่งเจ้าของซานติก้าต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว" พล.ต.อ.จงรักกล่าว และว่า ยังต้องใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานอีกระยะหนึ่งก่อนส่งสำนวนไปให้พนักงาน อัยการพิจารณาต่อไป

วันเดียวกัน ที่กระทรวงยุติธรรม นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลย ในคดีอาญา มีมติให้ช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียชีวิต 45 ราย จากเหตุเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ โดยอนุมัติให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวนทั้ง 3,550,000 บาท เฉลี่ยรายละ 80,000 บาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้เสียชีวิตชาวพม่า 1 ราย จึงประสานกับสถานทูตพม่าเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับญาติของผู้เสียชีวิต และภายหลังการรับเงิดชดเชยจากรัฐบาล ญาติของผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำประมาททั้งทางแพ่งและ ทางอาญา โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯจะอำนวยความสะดวกด้วยการประสานข้อมูลกับสำนักงานอัยการ สูงสุด

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯกล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณนี้กรมได้รับงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าทดแทนให้กับจำเลยและผู้เสียหายในคดีอาญา แต่ขณะนี้ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน กรมจ่ายเงินไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท คาดว่างบประมาณจะไม่เพียงพอที่จะจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายในปีนี้

วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11282 มติชนรายวัน

พิมพ์