ช้น้ำไฟรถเมล์ฟรีต่ออีก6เดือน

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 4137

ครม.มาร์ค ผ่านงบกลางปี 1.16 แสนล้าน ไฟเขียวต่ออายุมาตรการน้ำ ไฟ รถเมล์ฟรีอีก 6 เดือน พร้อมอัดมาตรการภาษีชุดใหญ่ ขยายฐานคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา เพิ่มเป็น 1 ล้าน ลดหย่อนภาษีผ่อนบ้าน 3 แสน พ่วงดอกเบี้ย 1 แสน ยอมสูญรายได้ 4 หมื่นล้าน บอร์ด สปส.เห็นชอบลดเงินสมทบนายจ้าง-ลูกจ้าง ฝ่ายละ 2.5% พร้อมดันโครงการซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายกลางปี 2552 วงเงิน 1.16 แสนล้านบาท พร้อมทั้งมาตรการชุดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ขยายโครงการแทรกแซงราคาพืชผลเกษตร รวมไปถึงขยายเวลามาตรการลดรายจ่ายให้แก่ประชาชน ทั้งค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า

 

นาย กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการภาษีที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ 7 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการภาษีช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านใหม่ และโอนกรรมสิทธิ์ภายในปี 2552 สามารถนำเงินต้นลดหย่อนภาษีไม่เกิน 3 แสนบาท และนำดอกเบี้ยเงินกู้หักลดหย่อนอีก 1 แสนบาท รวมเป็น 4 แสนบาท และต่ออายุค่าธรรมเนียมการโอนธุรกิจเฉพาะและภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถึงเดือนมีนาคม 2553 เนื่องจากต้องการให้มีการตัดสินใจซื้อบ้านในปี 2552 เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบมากขึ้น และจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง คาดว่าจะมีการซื้อขายบ้านใหม่ 1 แสนหน่วย โดยรัฐสูญรายได้จากมาตรการนี้ ค่าธรรมเนียมการโอน ธุรกิจเฉพาะ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3 หมื่นล้านบาท และภาษีอากรรายได้บุคคลธรรมดา 6,500 ล้านบาท

 

 2.มาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษี 0.5% จากเดิม 6 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนและเอสเอ็มอี เท่ากับเป็นการยกเว้นภาษีจาก 300 บาทต่อปี เป็นกว่า 5,000 บาทต่อปี ครอบคลุมเอสเอ็มอี 9.7 หมื่นราย โดยคาดรัฐสูญเสียรายได้ 1,400 ล้านบาท

 

 3.การช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน ด้วยการเพิ่มวงเงินรายได้ยกเว้นภาษีจาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้เฉพาะปีภาษี 2552-2553 เท่านั้น เพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชาชน และสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 5.8 หมื่นแห่ง คาดว่ารัฐสูญรายได้ 200 ล้านบาท

 

 4. มาตรการช่วยเหลือการท่องเที่ยว โดยให้บริษัทห้างหุ้นส่วนต่างๆ สามารถนำรายได้จากการสัมมนาค่าฝึกอบรมไปคำนวณหักภาษี 2 เท่าของที่จ่ายจริง ใช้สำหรับรอบบัญชีปี 2552 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้แก่โรงแรม ร้านค้า บริษัททัวร์ คาดว่าภาครัฐสูญรายได้ 1,800 ล้านบาท

 

 5.มาตรการเงินร่วม ลงทุน เพื่อเป็นการช่วยเหลือกองทุนร่วมลงทุน (เวนเจอร์แคปปิตอล ฟันด์) สำหรับนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียน เพื่อประโยชน์ด้านภาษี จากกำหนดเวลาได้ประโยชน์ในสิ้นปี 2551 ขยายเป็นสิ้นปี 2554 โดยยกเลิกเงื่อนไขที่บริษัทร่วมลงทุนต้องลงทุนร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนในปีแรก และยกเว้นภาษีเงินได้แก่ผลประโยชน์ของการโอนหุ้นของเอสเอ็มอี เพื่อให้เป็นแหล่งทุนระยะยาวของเอสเอ็มอี และสนับสนุนให้กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ

 

 6.มาตรการทางภาษี สนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยกเว้นภาษีเงินได้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงินและเจ้า หนี้อื่น โดยเจ้าหนี้สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากการปลดหนี้ดังกล่าวมาลดหย่อน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ยังยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนสินทรัพย์การขายสินค้า และผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ โดยลูกหนี้ต้องนำเงินที่ได้ไปชำระแก่เจ้าหนี้ จากการโอนสินทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนอง เป็นหลักประกันการกู้ให้แก่ผู้อื่น ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้รองรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ

 

 7. มาตรการเกี่ยวกับการโอนกิจการบางส่วนด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ์ และนิติกรรม กรมที่ดินที่เกิดจากการโอนกิจการบางส่วนให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัท มหาชนหรือบริษัทจำกัด โดยต้องโอนให้เสร็จภายในสิ้นปี 2552 ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดการปรับโครงสร้างองค์กรให้สามารถแข่งขันได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย

 “มาตรการภาษีทั้งหมด 7 รายการนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้ประชาชนสามารถฝ่าเศรษฐกิจรอบนี้ไปได้ แม้รัฐจะสูญเสียรายได้ถึง 4 หมื่นล้านบาท ก็ตาม” รมว.คลังกล่าว

 

ไฟเขียวใช้น้ำ-ไฟ-รถเมล์ฟรี

 ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบลดภาระค่าครองชีพประชาชนระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ใช้งบประมาณชดเชยอีก 1.39 หมื่นล้านบาท ด้วยการส่งงบประมาณให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการเป็นรายเดือน

 

 สำหรับ มาตรการลดค่าน้ำประปาของครัวเรือน ภาครัฐจะรับภาระการใช้น้ำของผู้ที่อยู่อาศัยและผู้เช่าใช้น้ำไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ที่ใช้บริการครอบคลุมทั้งการประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ประปาหมู่บ้าน และประปาเชิงพาณิชย์ เพื่อครอบคลุมผู้ใช้น้ำทั่วประเทศ 8.2 ล้านราย เชื่อว่าจะช่วยประชาชนประหยัดการใช้น้ำประปาเฉลี่ย 197 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในเขตพระนคร และประมาณ 107 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในภูมิภาค รวมเป็นเงิน 5,840 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือน ขณะที่มาตรการลดค่าใช้ไฟฟ้า ภาครัฐจะรับภาระการใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ครอบคลุมผู้ใช้ไฟทั้งประเทศ 8.81 ล้านราย คาดว่าจะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าไฟฟ้าต่อครัวเรือน 170.45 บาท ในเขตพระนคร และในเขตภูมิภาค 136.66 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 6,811 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือน

 

 ส่วนมาตรการรถโดยสารประจำทางฟรี รัฐบาลจะรับภาระค่าโดยสารของ ขสมก. ประเภทรถธรรมดาที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 800 คัน ใน 73 เส้นทาง ครอบคลุมผู้ใช้รถโดยสารถึง 4.1 แสนคนต่อวัน คาดว่าจะช่วยผู้มีรายได้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลถึง 108.33 ล้านบาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 650 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือน ส่วนมาตรการโดยสารรถไฟชั้น 3 ฟรี รัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม 164 ขบวน และรถไฟชั้น 3 จำนวน 8 ขบวน คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการ 4 ล้านเที่ยวต่อเดือน จะช่วยผู้มีรายได้น้อยประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 600 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือน.

 

 นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยอนุมัติให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยรัฐจะสูญเสียรายได้ 800 ล้านบาท รวมทั้งยังมีมาตรการลดหย่อนการประกันค่าใช้ไฟฟ้าของผู้ประกอบการท่องเที่ยว 2 เท่าของการใช้ไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระดังกล่าวลดลง ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมการขนส่งทางอากาศยังลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงของสนามบิน โดยสนามบินของกรมการขนส่งทางอากาศลดลง  50% สำหรับสนามบินของ ทอท. เที่ยวบินที่ขึ้น-ลงประจำ ลดค่าธรรมเนียม 20% ส่วนเช่าเหมาลำจะลดลง 50% โดย ทอท.ขอชดเชยภาระดังกล่าว 500 ล้านบาท ทำให้สายการบินต่างๆ สามารถพิจารณาลดค่าโดยสารได้ตามความเหมาะสม ส่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชทั่วประเทศ ยกเว้นค่าธรรมเนียมค่าเข้าชมเป็นเวลา 2 ปี โดยขอเงินชดเชยจากรัฐ 250 ล้านบาท

 นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบเพิ่มวงเงินเพื่อรับจำนำสินค้าเกษตร 13,580 ล้านบาท เป็นเงินกู้ 12,625 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 955 ล้านบาท เพื่อใช้รับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยกำชับให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามข้อผูกพันที่คณะรัฐมนตรีเดิมอนุมัติไว้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำบทเรียนในอดีตมาทบทวน เพื่อหาแนวทางอื่นที่เหมาะสมกับสถานการณ์และให้มีการตรวจสอบการใช้เงินอย่าง เข้มงวด หากพบทุจริตต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด

 

สปส.ลดเงินสมทบนายจ้าง-ลูกจ้าง 2.5%

ส่วน ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด สปส. เมื่อวันที่ 20 มกราคม มีมติเห็นชอบ อนุมัติ 6 ต่อ 5 เสียง รับหลักการลดเงินสมทบให้แก่ลูกจ้าง และนายจ้าง ฝ่ายละร้อยละ 2.5 จากเดิมที่แต่ละฝ่ายสมทบฝ่ายละ 5% อย่างไรก็ตาม บอร์ด สปส.จะต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม 2552

 

 สำหรับ กระบวนการภายหลังที่บอร์ด สปส.เห็นชอบแล้ว ฝ่ายกฎหมายจะทำหน้าที่แก้กฎหมายโดยออกเป็นกฎกระทรวง คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศใช้ต่อไป

 

 ทั้งนี้การลดเงินสมทบดังกล่าวจะมีผลถึง เดือนธันวาคม 2552 ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนประกันสังคมนั้น นายสมชายกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เนื่องจากปี 2551 สปส.มีเงินกำไรทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท ส่วนการลดครั้งนี้ มีผลกระทบต่อเงินกำไรเพียง 1.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

 

ควักกองทุนพันล้านซื้อข้าวสารแจก
นาย สมชายกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมบอร์ด สปส. ยังมีมติเห็นชอบให้นำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 1,000 ล้านบาทซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตนจำนวน 9.3 ล้านคน คนละ 1 ถุง หรือ 5 กิโลกรัม ในโครงการบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นลักษณะการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในภาวะ วิกฤติเศรษฐกิจทางหนึ่ง ทั้งนี้จะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ รมว.แรงงาน ซึ่งหากเห็นชอบ สปส.ก็จะดำเนินการส่งขั้นตอนข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้แก่กรมบัญชีกลาง พิจารณาตรวจสอบต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อข้าวสารภายในระยะเวลา 2 เดือน เชื่อมั่นว่าข้าวสารจะถึงมือผู้ประกันตนทุกคน และยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างโปร่งใส หากไม่ถึงมือผู้ประกันตน ก็สามารถเรียกร้อง หรือฟ้องร้องได้เพื่อความยุติธรรม

 

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้จริง และอาจเป็นช่องทางการทุจริตของกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ เป็นเพียงแนวคิดของคนส่วนน้อย ไม่ใช่ตัวแทนของผู้ประกันตน และผู้ประกันตนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย

 

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านสระบุรี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมาซื้อข้าวสารแจก เพราะเห็นว่าไม่ตรงจุดในการช่วยเหลือ และข้าวแค่ 5 กิโลกรัม ไม่น่าจะเพียงพอต่อผู้ประกันตนมากนัก คิดว่าเรื่องนี้น่าจะมีเรื่องประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจมีการฮั้วประมูลกันระหว่างบริษัทเอกชนกับบอร์ด สปส.บางคน

 

ผู้สื่อ ข่าวรายงานว่า โครงการดังกล่าวเคยผ่านการเห็นชอบจาก บอร์ด สปส.ชุดนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ซึ่งมีบอร์ด สปส.เข้าประชุมเพียง 8 คน จาก 15 คน ด้วยมติ 5 ต่อ 3 เสียง ซึ่ง 3 เสียงที่คัดค้านโครงการดังกล่าวล้วนเป็นบอร์ดฝ่ายลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม บอร์ด สปส.ยังไม่ทันได้เสนอนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงานขณะนั้น เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก่อน

นสพ.คมชัดลึก 21-01-52

พิมพ์