๑๐,๐๐๐ รายชื่อ เพื่อกฎหมายผู้บริโภค

“๑๐,๐๐๐ รายชื่อ เพื่อกฎหมายผู้บริโภค”
“พระราชบัญญัติองค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ. .... ”

ทำไมต้อง ๑๐,๐๐๐ รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย
    ตามมาตรา ๑๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งได้บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนไว้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ โดยต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วย

ทำไม ถึงต้องมีกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ. ...

    มาตรา ๖๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

   ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย


องค์การอิสระผู้บริโภค ควรทำหน้าที่อะไร

    (๑) ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการตราและการบังคับใช้กฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และการให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
    (๒) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
    (๓) ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคในการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดขึ้นอย่างน้อยในทุกจังหวัด
    (๔) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์กรเอกชนและองค์กรอื่นในการส่งเสริมผู้บริโภคและการคุ้มครองผู้บริโภค
    (๕) จัดให้มีการประชุมสมัชชาตัวแทนองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อประเมินการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขององค์การอิสระ ติดตาม ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อเสนอแนะแนวทางในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคแก่หน่วยราชกาช รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อดำเนินการใด ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภค
    (๖) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ในการคุ้มครองผู้บริโภค
    (๗) จัดทำรายงานเฉพาะกรณี รายงานประจำปี เพื่อประเมินสถานการณ์ผู้บริโภค เสนอต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภาและเผยแพร่ต่อสาธารณชน
    (๘) สนับสนุนการใช้มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งทำการฟ้องแทนผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น

 

พิมพ์ อีเมล