เร่งคลอดกม.สคบ. เป็นองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ

 นายธีรวัฒน์ จันทรสมบูรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ค.นี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสคบ.ภาคประชาชน กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร มาหารือรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สคบ.เป็นผู้ดำเนินการและร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ที่เสนอโดยเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ว่าจะสามารถนำทั้ง 2 ร่างมาหลอมรวมกันได้มากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะเสนอให้ครม.พิจารณาและที่ประชุมสภาฯเห็นชอบก่อนออกเป็นกฎหมายที่ชัดเจนต่อไป 

ทั้งนี้การออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่ให้ความเห็นกับส่วนราชการในการที่จะออกกฎ กฎหมาย กฎระเบียบ ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการตรวจสอบ การติดตามและกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึงรูปแบบการได้มาซึ่งคณะกรรมการ ที่เปิดโอกาสให้มีการสรรหามาจากภาคประชาชน ด้วย เพื่อให้กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเกิดผลอย่างแท้จริง 

 อย่างไรก็ตามนายสาทิตย์ จะนำเรื่องนี้เข้าไปหารือให้ชัดเจนอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ในช่วงเช้าของวันเดียวกันเพื่อนำมาเป็นจุดยืนของคคบ.ในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงบ่ายต่อไป 

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้นายสาทิตย์ ได้ยืนยันว่า จะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในครั้งเดียว โดยนำแต่เฉพาะประเด็นที่เห็นแตกต่างกันมาหารือ และจะนำร่างกฎหมาย 2 ฉบับมาหลอมเป็นฉบับเดียว เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีผลไม่เกินเดือนมิ.ย. 53 ส่วนเรื่องของงบประมาณที่ร่างกฎหมายของภาคประชาชนเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณ 5 บาทต่อประชากร หรือประมาณ 300 ล้านบาท นั้นยืนยันว่างบประมาณมากน้อยไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อยู่ที่ว่างบประมาณดังกล่าวมาจากฐานใด และมีแผนงานในการดำเนินการที่ใช้งบประมาณอย่างไร 

 "แนวคิดของภาคประชาชนถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเกรงว่าภารกิจขององค์การอิสระฯ จะมีมากมาย แต่งบประมาณได้รับการอนุมัติเป็นจำนวนน้อย ดังนั้น ต้องหารือกันอีกครั้ง ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่แล้ว เช่นอาจสนับสนุนในลักษณะองค์กรมหาชนที่ให้งบประมาณเป็นก้อน บริหารจัดการเองได้ โดยมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินคอยตรวจสอบ เป็นต้น"

ข้อมูลจาก นสพ.แนวหน้า 4/5/52

พิมพ์ อีเมล