ผู้บริโภคปลดแอกแบงก์มัดมือค่ากดATM

มูลนิธิผู้บริโภคเผยธนาคารโขกค่าธรรมเนียมใช้ตู้เอทีเอ็มแบบมัดมือชก ผลักภาระให้ประชาชนแบกรับแทน เตรียมนัดแบงก์ชาติ ตัวแทนธนาคารพาณิชย์ และ สคบ.หาแนวทางคุ้มครองเนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล แฉธนาคารสาขาสมุทรสาครดอดตั้งตู้ในกรุงเทพฯ มีลูกค้าเสียค่าธรรมเนียมถอนเงินข้ามจังหวัด 20 บาทโดยไม่รู้เรื่องเพียบ   

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนได้รับความไม่เป็นธรรมจากการใช้บริการตู้เอทีเอ็มธนาคารหลายแห่ง ซึ่งมุ่งหารายได้ผ่านการเก็บค่าธรรมเนียมรายการถอนเงินสดและถามยอดเงินบัญชี ทั้งกรณีใช้บัตรเอทีเอ็มกับธนาคารเดียวกันและต่างธนาคาร ที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียนว่าถูกธนาคารเอารัดเอาเปรียบสารพัดรูปแบบ แต่กลับไม่มีการปรับปรุงแก้ไขการเก็บค่าธรรมเนียมให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ ใช้บริการเอทีเอ็มอย่างเป็นรูปธรรม และปล่อยเป็นปัญหาคาราคาซังจนถึงขณะนี้

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบการร้องเรียนผู้ใช้ตู้เอทีเอ็ม ซึ่งมีประชาชนนำข้อมูลมาเปิดเผยทางเว็บไซต์พันทิปดอทคอมกันอย่างแพร่หลาย ล่าสุดมีผู้ใช้นามว่า "อ้วนเอย" ตั้งหัวข้อ "กดเอทีเอ็มต้องระวังค่าธรรมเนียม" โพสต์ข้อความวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 เล่าว่า ได้ใช้ตู้เอทีเอ็มที่ปั๊มแก๊สแห่งหนึ่งริมถนนพระราม 2 อยู่ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ โดยนำบัตรเอทีเอ็มถอนเงินต่างธนาคารเป็นครั้งแรกของเดือน ซึ่งตามกฎสามารถถอนเงินต่างธนาคารในจังหวัดเดียวกันได้ 4 ครั้งต่อเดือนโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

แต่ปรากฏว่าถูกหักเงิน 20 บาท เมื่อติดต่อสอบถามไปยังธนาคารเจ้าของตู้เอทีเอ็ม จึงรับทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นการถอนเงินต่างธนาคารข้ามเขต แม้ผู้ใช้บริการจะกดเงินอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เป็นตู้ที่ขึ้นกับธนาคารสาขาเพชรเกษม 91 จังหวัดสมุทรสาคร นำมาติดตั้งไว้ ดังนั้นจึงมีค่าบริการถอนเงินข้ามจังหวัด 20 บาท เจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าให้ทำหนังสือร้องขอเงินคืน พร้อมกับยอมรับว่ามีคนร้องเรียนเป็นจำนวนมากด้วย แต่ผู้บริหารไม่ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีธนาคารสาขาจังหวัดสมุทรสาครนำตู้เอทีเอ็มไปติดตั้งในพื้นที่ชาน เมืองกรุงเทพฯ แล้วคิดค่าบริการถอนเงิน 20 บาทนั้น ถือเป็นการฉ้อโกงโดยเจตนา ธนาคารตั้งใจเอาเปรียบประชาชนอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้นมูลนิธิจะรวบรวมข้อมูลที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้ตู้เอทีเอ็ม ทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมไม่เป็นธรรม เช่น ถอนเงินธนาคารเดียวกันในเขตเดียวกันควรจะให้สิทธิผู้บริโภคโดยไม่เสียค่า ธรรมเนียมใดๆ แต่ก็มีกำหนดเก็บค่าธรรมเนียมหากถอนเงินหลายครั้ง แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยเริ่มตั้งแต่ 5-20 บาท แต่เมื่อคิดรวมเงินทั้งหมดที่ได้จากผู้ใช้ตู้เอทีเอ็มแล้วนับว่ามีจำนวน มหาศาล และเป็นช่องทางหาผลกำไรที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยิ่ง

"โดยปกติผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาทอยู่แล้ว ก็ไม่ควรตั้งเพดานการถอนเงินหรือถามยอดบัญชีเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียม อีกทั้งยังเห็นว่าเป็นเงินที่สูงมาก เพราะบางคนมีเงินอยู่ในบัญชีไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น แต่ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระแทนธนาคาร จึงอยากเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลด้วย อย่าปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์มัดมือชกผู้ใช้เอทีเอ็ม" น.ส.สารีกล่าว

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคบอกอีกว่า ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ปกป้องประชาชนไม่ให้ถูกธนาคารพาณิชย์เอา เปรียบ อ้างว่าเป็นเรื่องของกลไกตลาด แต่ไม่มีกระบวนการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งการเปิดช่องให้ธนาคารสามารถหารายได้มากกว่าเดิม ทั้งทำบัตรเครดิต ขายประกัน ขายกองทุนรวมหรือขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ตลอดจนค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ธนาคารกำหนดได้อิสระโดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนจริงกับค่าบริการที่เรียก เก็บจากลูกค้า

"การที่ธนาคารอ้างเรื่องต้นทุนสูงทำให้ต้องเก็บค่าธรรมเนียมแพงนั้น แสดงว่าธนาคารมีการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และมุ่งหากำไรเกินกว่าที่ควรจะเป็น การแก้ปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรมมีหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะต้อง แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้นจะมีการจัดทำรายละเอียดถึงแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านการเงินการ ธนาคาร เพื่อนำเสนอต่อเวทีประชุมวิชาการในวันสิทธิผู้บริโภคสากล วันที่ 15 มีนาคม 2555 ซึ่งจะมีการนัดหารือร่วมกันระหว่างแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง ตัวแทนธนาคารพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อกำหนดกฎกติกาที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อไป" น.ส.สารีกล่าวสรุป.

พิมพ์ อีเมล