กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพชี้แจง ๔ ประเด็นเห็นร่วม ๕ ประเด็นเห็นต่าง ๗ ประเด็นสำคัญแก้แล้วดีขึ้น

600621 news4

จากการติดตามการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ภาคประชาชนเห็นว่าควรต้องแก้ไข เพื่อทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น และมีข้อเสนอในหลายประเด็นที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมาย แต่เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขกฎหมายมีความไม่สมดุลของกรรมการ ที่ใช้เสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน จนเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้


ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจึงต้องการที่จะชี้แจงประเด็นเห็นต่าง ประเด็นเห็นร่วม และประเด็นที่ต้องการแก้ไข เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อประชาชนทุกคนที่ติดตามการเคลื่อนไหวครั้งนี้โดยมีหลักการดังนี้

๑. หลักการมาตรฐานการรักษาเดียวกันของทุกกองทุน (สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทองที่รวมกองทุนคืนสิทธิ กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าวหรือกองทุนบัตรสุขภาพแรงงาน)
๒. หลักการการแยก “ผู้จัดบริการ” และ “ผู้ซื้อบริการ”
๓. หลักการครอบคลุมประชากรทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้รอพิสูจน์สถานะบุคคล
๔. หลักการการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนในการร่วมจัดบริการ ร่วมให้บริการด้านสาธารณสุข (มีสิทธิในการจัดบริการที่เป็นช่องว่าง) นิยามเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มีความชัดเจน และสามารถสนับสนุนภาคประชาชนในการทำงานส่งเสริมป้องกันโรค ร่วมให้บริการ ตามประกาศ สธ. ตามคำสั่ง คสช.ที่ ๓๗/๕๙(ม.๔๔)
๕. หลักการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

๔ ประเด็นเห็นร่วมที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เห็นด้วย

กับการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีดังนี้

๑. เห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา ๑๔ เรื่องเงื่อนไขการเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ที่กำหนดไม่ให้เป็นกรรมการควบทั้งสองตำแหน่ง และระบุการดำรงวาระของแต่ลำตำแหน่งให้มีความรัดกุมและเปิดโอกาสให้มีตัวแทนกรรมการใหม่ๆ ในด้านต่างๆ ให้เข้ามาร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากที่ผ่านมามีกรรมการหลายคน ที่เปลี่ยนตำแหน่งสลับระหว่างการเป็นบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ทำให้มีกรรมการบางคนอยู่ในวาระทั้งสองส่วนนานถึง ๑๖ ปี
๒. เห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา ๑๕ ซึ่งแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา ๑๔ ด้วยเหตุผลเดียวกัน
๓. เห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา ๒๙ เรื่องการเสนอขอรับงบประมาณประจำปีต่อคณะรัฐมนตรีของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยได้เพิ่มเติมเรื่องของรายได้ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน เนื่องจากงานบริการด้านสุขภาพ อัตราการป่วย การตายเป็นการคาดการณ์ ควรมีระบบบริหารจัดการในลักษณะเงินหมุนเวียน
๔. เห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา ๔๒ เรื่องยกเลิกการไล่เบี้ย เนื่องจากการกำหนดเรื่องการไล่เบี้ย เป็นประเด็นที่มีผลต่อท่าทีระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ดังนั้นการยกเลิกมาตรานี้เป็นไปเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ป่วย

๕ ประเด็นเห็นแตกต่างที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ไม่เห็นด้วย
ในการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีดังนี้

๑. ไม่เห็นด้วยเรื่องการเพิ่มนิยาม “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ” ตามมาตรา ๓ เนื่องจากการเพิ่มนิยามคำนี้ จะขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนในมาตรา ๓๘ ที่ระบุว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ แต่การแก้ไขกลับเพิ่มนิยามที่จะส่งผลให้ไปจำกัดความหมายของ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ด้านการสนับสนุน ส่งเสริม การจัดบริการ ซึ่งสามารถสนับสนุนเป็นรูปแบบอื่นได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะตัวเงินเท่านั้น เช่น การสนับสนุนเป็นยา เวชภัณฑ์ เป็นต้น
ไม่เห็นด้วยเรื่องการแก้ไขนิยาม “สถานบริการ” ตามมาตรา ๓ เนื่องจาก “หลักการ” ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการบริการรักษาอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมจัดบริการด้านสุขภาพของประชาชน ประชาสังคม องค์กรสาธารณะ รวมทั้งองค์กรท้องถิ่น ดังนี้ จึงให้เพิ่มนิยาม “องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร” ตามหลักการในข้อ ๔ เรื่องการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนที่ระบุในหลักการการแก้กฎหมายของภาคประชาชน
ทั้งนี้ มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากผลการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ยกตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมให้บริการของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในรูปแบบ “ศูนย์องค์รวม” ที่สามารถติดตาม ดูแล ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถกินยาได้อย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาการดื้อยา ลดอัตราการเสียชีวิต หรือการริเริ่มของชุมชนในการให้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (Community Led Services) กับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเปราะบางต่างๆ เป็นต้น
๒. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา ๑๓ ในการปรับลดองค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยดังนี้
๒.๑ ไม่เห็นด้วยกับการที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน เนื่องจากขัดกับหลักการแยกผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ (Purchaser Provider Split) เพราะปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดบริการรายใหญ่ รวมทั้งตัดข้อความที่จะแก้ไขใน วรรค ๒ ของ มาตรา ๑๗ “...ให้รองประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทน หากประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ.....”โดยให้กลับมาใช้ข้อความเดิมในวรรค ๒ มาตรา ๑๗
๒.๒ ให้คงจำนวนผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเดิม
ตามมาตรา ๑๓ (๓) ผู้แทนเทศบาลหนึ่งคน องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน องค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นหนึ่งคน โดยให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทคัดเลือกกันเอง
๒.๓ ไม่เห็นด้วยในการกำหนดให้มีผู้แทนสภาวิชาชีพ จำนวน ๕ คน เนื่องจากมองว่าบทบาทของสภาวิชาชีพ เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นและพิจารณาด้านมาตรฐานในการให้บริการทางการแพทย์ จึงควรปรับให้ไปเป็นผู้แทนในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขแทน
๓. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา ๔๑ ที่ระบุเพียงให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แต่เห็นว่าควรต้องเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และยังคงเห็นร่วมว่าให้เพิ่มผู้ให้บริการเข้าไปในมาตรานี้ด้วย เหตุผลคือ
๓.๑ เพื่อลดการฟ้องคดีกับผู้ประกอบวิชาชีพ
๓.๒ ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม
๓.๓ พัฒนาคุณภาพหน่วยบริการโดยไม่มีระบบเพิ่มโทษ

๔. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา ๔๖ ที่เสนอให้มีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ด้วยเหตุผลดังนี้
๔.๑ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างที่รับฟังความเห็น กรณีมาตรา ๔๖ (๒) เนื่องจากการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวจะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร และในการแก้ไขมาตรานี้มีนัยยะสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านการเข้าถึงบริการ หากบุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้น ควรต้องมีการศึกษาด้านวิชาการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณามาตรานี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากการแก้กฎหมายจะส่งผลต่อการปฏิบัติในระยะยาว
๕. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา ๔๘ (๘) ที่เสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพ และผู้ให้บริการ เนื่องจากจะเป็นการลดสมดุลกรรมการในการพิจารณากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการและผู้ป่วย ซึ่งในกฎหมายปัจจุบันสัดส่วนของผู้ให้บริการและวิชาชีพมีมากอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ป่วย และผู้รับบริการกลับมีสัดส่วนน้อย ดังนั้น ภาคประชาชนจึงเสนอเพิ่มตัวแทนประชาชนจาก ๕ คนเป็น ๘ คน โดยให้เพิ่มสัดส่วนของงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ให้บริการตามมาตรา ๕๐ (๕)

๗ ประเด็นสำคัญแก้แล้วดีขึ้น ที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นว่าต้องมีการแก้ไข
กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีดังนี้

๑. เสนอให้แก้ไขมาตรา ๕ โดยให้เพิ่มให้หมายรวมถึง บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ และตัดวรรคสองของมาตรา ๕ เรื่องการให้กรรมการสามารถกำหนดการร่วมจ่ายของประชาชนด้วยเหตุผลดังนี้
๑.๑ เพื่อให้ครอบคลุมประชากรทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มคนไทยที่มีปัญหารอพิสูจน์สถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ
๑.๒ ยกเลิกการเก็บร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ หรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เนื่องจากจะกระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยได้ และไม่สนับสนุนให้มีการเก็บเงินร่วมจ่ายในแต่ละครั้งที่ไปเข้ารับบริการ เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ
ทั้งนี้การร่วมจ่ายจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐาน ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้มารับบริการ ทำให้เกิดการตรวจสอบเศรษฐานะของบุคคล และสถานะของบุคคล เกิดการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

๒. เสนอให้แก้ไขมาตรา ๙ ให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน ด้วยเหตุผลดังนี้
๒.๑ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ๒๐ ปี ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข
๒.๒ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
๒.๓ ยืนยันสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพ ที่ทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขสิทธิประโยชน์เดียวกัน มีมาตรฐาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในการรับบริการสุขภาพของประชาชน
๒.๔ ปัจจุบันมีสิทธิประโยชน์ในการรับบริการสาธารณสุขที่แตกต่างกัน
๒.๕ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน
๓. เสนอให้แก้ไขมาตรา ๑๐ ให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับประชาชนทุกคน และรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน ด้วยเหตุผลดังนี้
๓.๑ ลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบด้านสุขภาพตรงเพียงกลุ่มเดียว
๓.๒ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข 20 ปี ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข
๓.๓ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
๓.๔ ยืนยันสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพที่ทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขสิทธิประโยชน์เดียวกัน มีมาตรฐาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในการรับบริการสุขภาพของประชาชน
๓.๕ ปัจจุบันมีสิทธิประโยชน์ในการรับบริการสาธารณสุขที่แตกต่างกัน
๓.๖ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน
๔. เสนอให้แก้ไขมาตรา ๑๘ แก้ไขอำนาจของคณะกรรมการในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน ด้วยเหตุผลดังนี้
๔.๑ เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงสำหรับผู้ป่วยเช่นผู้ป่วยเอชไอวี มะเร็ง เป็นต้น
๔.๒ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน โดยเพิ่มอำนาจกรรมการให้สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง โดยในปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้งบประมาณจัดซื้อยารวมเพียงร้อยละ ๔.๙ ของการจัดซื้อยา ทำให้ประหยัดงบประมาณในรอบ ๑๐ ปีได้มากถึง ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท
๔.๓ ลดภาระงบประมาณของประเทศ หากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะต้องหาเงินมาเพิ่มเติมปีละ ๕,๐๐๐ ล้านบาท ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ
๔.๔ เปิดโอกาสให้เกิดการเก็บเงินร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ ซึ่งทำให้เกิดหลายมาตรฐานในบริการสาธารณสุข
๔.๕ เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้ป่วย
๕. เสนอให้แก้ไขมาตรา ๒๖ ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส ด้วยเหตุผลดังนี้
๕.๑ ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณที่ได้รับทำให้ต้องมีการกำหนดการจ่ายเป็นลักษณะ Global budget ซึ่งหากหน่วยบริการใดที่ผลการตรวจสอบเชื่อได้ว่ามีการจงใจจัดทำข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายที่เกินจริงก็จะส่งผลกระทบกับหน่วยบริการอื่น ดังนั้น ควรมีมาตรการที่สามารถใช้อำนาจในการดำเนินการลงโทษทางปกครองกับหน่วยบริการที่จงใจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริง เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่หน่วยบริการที่ดำเนินการถูกต้อง ซึ่งการลงโทษทางปกครองเป็นการลงโทษการกระทำของบุคคลที่จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ โดยการกำหนดโทษคำนึงถึงพฤติกรรมในอดีตเป็นหลัก
๕.๒ การฝ่าฝืนที่เกิดขึ้นแล้วควรกำหนดโทษอย่างไรเพื่อป้องปรามมิให้เกิดพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้อีกในครั้งต่อๆ ไป
๕.๓ เพื่อให้ สปสช.สามารถบริหารกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลและเกิดความเป็นธรรมแก่หน่วยบริการ
๖. เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๗/๑ ให้กองทุนสามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ด้วยเหตุผลดังนี้
๖.๑ แก้ไขให้สอดคล้องตามคำสั่ง คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๙
๖.๒ เจตนารมณ์ของมาตรา ๔๗ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจ และสร้างการมีส่วนร่วมจากองค์กรท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการคงไว้ซึ่งหลักการของการสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรประชาชน องค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่ดำเนินการเพื่อกำไร ซึ่งในการให้บริการสาธารณสุขจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนโดยเฉพาะบริการสาธารณสุขเชิงรุก ดังนั้นการบูรณาการงานในระดับพื้นที่ ให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร สามารถรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
๗. เสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา ๖๖ ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพของประเทศให้เป็นกองทุนเดียว

 

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ประวัติศาสตร์ ๑๐ ปีที่ผ่านมามีการยกระดับจากความใฝ่ฝันของประชาชนมาเป็นกฎหมายของประเทศ กว่า ๙ หมื่นรายชื่อผนึกกำลังกันผลักดัน จนทำให้สามารถออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เมื่อปลายปี ๒๕๔๕ พัฒนาระบบการบริหารจัดการรักษาสุขภาพแบบมีมาตรฐาน บนพื้นฐานการคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างเป็นจริง เป็นธรรม สำหรับทุกฝ่าย เกิดระบบการจ่ายเงินค่ารักษาที่พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบอย่างมืออาชีพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบประกันสุขภาพระบบแรก และระบบเดียวที่ผู้แทนประชาชนส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการบริหารและควบคุมคุณภาพอย่างแท้จริง มีสัดส่วนของเครือข่ายประชาชนในคณะกรรมการ และอนุกรรมการทุกระดับ

ระหว่างเส้นทาง ก็มีคลื่นลมที่มากระทบระบบเป็นระยะๆจากกลุ่มที่เห็นต่าง ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับสภาวะขาดแคลนบุคคลากรที่จะดูแลประชากรในระบบ มีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงหัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกลับไปสู่ยุคที่ “คนจน ไม่มีสิทธิป่วย” อยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการและกลยุทธ์ที่หลากหลาย
ความฝันของภาคประชาชนที่ร่วมลงชื่อกันหลายหมื่นรายชื่อ ยังไม่บรรลุเป้าหมายทั้งหมด กฎหมายกำหนดว่ารัฐต้องดำเนินการหลอมรวมระบบหลักประกันสุขภาพทั้งประเทศให้เป็นระบบเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน และคุ้มครองสิทธิการรักษาเท่าเทียมกัน ในขณะที่ปัจจุบันยังมีระบบการรักษาพยาบาลถึง ๓ ระบบใหญ่ที่มีมาตรฐาน และคุณภาพต่างกัน มีการบริหารจัดการที่ต่างกัน

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. จับตาการดำเนินงานของรัฐบาล รัฐมนตรีสาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และกฎหมายที่ประชาชนร่วมสร้างมาแต่ต้น
2. การเปิดโปงความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งการบริหารจัดการส่วนกลาง และการดำเนินการในระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล และสถานพยาบาล
3. การนำเสนอข้อเท็จจริงของการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบการรักษาของบัตรทองมีมาตรฐานและคุ้มค่า มากกว่าระบบของข้าราชการที่ผลาญเงินภาษีอย่างมหาศาล และการสร้างมายาภาพของประกันสังคม

เครือข่ายประชาชนที่ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเฝ้าติดตามมาโดยตลอด ตระหนักถึงภาวะคุกคามนี้ จึงต้องออกมาส่งเสียงและแสดงตัวตนว่าเราเป็น “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” เปิดตัวครั้งแรกในเดือนมกราคม ๒๕๕๕ ประกอบไปด้วย เครือข่ายประชาชนดังนี้ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน เครือข่ายชุมชนแออัด เครือข่ายเกษตร เครือข่ายชนกลุ่มน้อย เครือข่ายผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล