ห่วงคนเข้าใจผิด หลังโซเชียลฯแชร์ จับ รพ. เก็บเงินเจ็บป่วยฉุกเฉิน

580826 heart
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการแชร์ข้อความในโซเชียลฯ ระบุทำนองว่า หากเจ็บป่วยฉุกเฉินและเข้ารับการรักษาที่รพ. ภายใน 72 ชั่วโมง ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลใดๆ ซึ่งหากรพ.เรียกเก็บเงินจะมีความผิดทันที ว่า เรื่องนี้มีความเป็นห่วงมาก เพราะมีการแชร์ข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งได้มอบหมายให้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ไปดำเนินการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแล้ว ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งยังไม่ได้มีการบังคับใช้ตามที่มีการแชร์กันในโซเชียลฯ

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดี สบส. กล่าวถึงความคืบหน้าของการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 ตามมาตรา 36 ที่กำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ต้องควบคุมและดูแลให้มี การช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ โดยเฉพาะการรักษาใน 72 ชั่วโมงแรกนั้น ขอยืนยันว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ตามที่มีการนำเสนอในโซเซียลมีเดีย

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า ในทางปฏิบัตินั้น จะต้องจัดทำกฎหมาย คือ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย การกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินและการระดมทรัพยากรและการมีส่วนร่วมการช่วยเหลือเยียวยาและจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น และ3. หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรา 36 โดยอาศัยพ.ร.บ.ติการแพทย์ฉุกเฉินเป็นฐาน เพื่อให้ภาคเอกชนยึดเป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้กรม สบส.ได้เร่งดำเนินการจัดทำ และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสถานพยาบาลมาแล้ว โดยจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบ เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ และหากร่างประกาศกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้ โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม โดยห้ามเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

 

ข้อมูลจาก มติชนออไลน์ 20 ก.พ. 60
ภาพจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล