บทสรุป...บัตรทอง!!!ปรับปรุงแบบสมดุล3ฝ่าย

580518 health3
เกิดกระแสคัดค้านทันทีเมื่อมีการตีความคำพูดของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ที่ออกผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม 2558 ว่า “ยกเลิก 30 บาทรักษาทุกโรค” หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง แต่หากจับจุด สิ่งที่นายกฯกล่าวถึงมี 2 ส่วนสำคัญ คือ งบประมาณไม่เพียงพอ และสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลแย่ ความเป็นจริงแม้รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่ความปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็คงไม่กล้าหักด้ามพร้าด้วยเข่า โดยการประกาศยกเลิกบัตรทองเป็นแน่ เพราะนั่นอาจเป็นการปลุกชนวนการต่อต้านที่รุนแรงจากการไปตัดสิทธิ์สวัสดิการ ที่พึงได้ของประชาชนคนไทยในการรักษาพยาบาล ทว่า จากการดำเนินงานมาถึง 13 ปี และผลที่เกิดขึ้นของบัตรทอง สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือ การปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น รัฐบาลมีเงินสนับสนุนเพียงพอ ประชาชนเข้าถึงการักษา และผู้ให้บริการและโรงพยาบาลอยู่รอด เป็นแบบ วิน วิน ทั้ง 3 ฝ่าย

เหนืออื่นใดประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองที่ปัจจุบันมีเกือบ 49 ล้านคน นับว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับครอบคลุมทุกโรค ยกเว้นเพียงกรณีเกินความจำเป็น เช่น การรักษามีบุตรยาก การผสมเทียม การเปลี่ยนเพศ การกระทำเพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โรคจิตกรณีที่ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 15 วัน เป็นต้น สร้างความพึงพอใจต่อบัตรทองถึง 94.54% จากการสำรวจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อปี 2557

สำหรับงบประมาณที่เป็นประเด็นให้นายกฯ พูดถึงนั้น กองทุนบัตรทองจะได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเต็ม 100% ผ่านงบเหมาจ่ายรายหัว โดยยุคเริ่มต้นปี 2545 รัฐบาลจัดให้ 1,202.4 บาทต่อคนต่อปี รวมเป็นเงิน 57,354.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จนปี 2555-2556 ที่รัฐบาลให้คงอัตราเดียวกันที่ 2,755.60 บาทต่อคนต่อปี เช่นเดียวกับ ปี 2557-2558 คงอัตรา 2,895.09 บาทต่อคนต่อปี และปี 2559 อนุมัติที่ 3,028 บาทต่อคนต่อปี อาจเป็นที่มาของความกังวลว่างบบัตรทองจะเพิ่มสูงมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จนรัฐมีเงินสนับสนุนไม่เพียงพอ

งบดังกล่าว สปสช.จะเป็นผู้จัดสรรให้แก่หน่วยบริการ โดยคำนวณจากจำนวนประชากรที่หน่วยบริการรับผิดชอบคูณด้วยจำนวนงบเหมาจ่ายฯ ทว่า งบเหมาจ่ายรายหัวมีส่วนที่เป็นเงินเดือนของบุคลากรภาครัฐสังกัดกระทรวง สาธารณสุข (สธ.) อยู่ 60% ด้วย ทำให้งบรายหัวไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของประชาชนเพียงอย่างเดียวแบบ เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างเช่น ปี 2557 งบเหมาจ่ายรวมทั้งสิ้น 141,430.92 ล้านบาท เป็นส่วนของเงินเดือน 38,381.291 ล้านบาท เหลือเป็นงบค่ารักษา 103,049.633 ล้านบาท เป็นเพียงกระทรวงเดียวใน 20 กระทรวงที่มีรูปแบบงบเงินเดือนเช่นนี้

การจัดสรรงบบัตรทองเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะยุคที่ "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัดสธ.นำทีม ใช้เป็นเหตุผลหลักออกมาโจมตีว่า ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยระบุว่ามีโรงพยาบาลถึง 136 แห่ง ที่มีวิกฤติการเงินระดับ 7 หรือระดับวิกฤติ

การแก้ปัญหาส่วนของงบประมาณ ข้อเสนอหนึ่งที่มีการพูดถึงเสมอมา คือ การร่วมจ่าย ให้ประชาชนที่มีกำลังความสามารถทางการเงินร่วมสนับสนุนงบประมาณค่ารักษา ยกเว้นผู้ยากไร้ แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากตัวแทนภาคประชาสังคมเสมอมาเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่า เป็นการแยกฐานะของคนและบัตรทองเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องหาเงินมาสนับสนุนให้ เพียงพอ และล่าสุด ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงกับพูดแนวทางหนึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า อาจให้ประชาชนคนไทยทุกคนที่สนใจร่วมบริจาคเข้ากองทุนบัตรทองแล้วนำไปหักภาษี ได้

ส่วนช่องทางให้โรงพยาบาลอยู่รอด ฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสังกัด สธ.ขอให้มีการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบรายหัว บวกกับให้มีการปรับรูปแบบการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวใหม่ เพื่อให้งบรายหัวไปใช้เป็นค่าบริการแก่ประชาชนแบบเต็มๆ เพราะเชื่อว่าหากอัตราอยู่ที่ 3,000 กว่าบาทต่อคน โดยไม่พ่วงเงินเดือน จะเป็นงบที่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชาชน อาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มงบเหมาจ่ายทุกปี แต่ก็ดูจะเป็นข้อเสนอที่ได้รับการเพิกเฉย

หากมองอยู่บนความจริงเชิงประจักษ์ คงต้องยอมรับว่า การให้ประชาชนร่วมจ่าย หรือร่วมประกันหรือร่วมสมทบ ก่อนการรักษา เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความพอดีให้แก่ทั้ง 3 ฝ่าย ทำให้กองทุนมีเงินสนับสนุนจากประชาชนและรัฐ ประชาชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้โดยไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินและโรง พยาบาลรัฐอยู่รอด แต่จะเป็นร่วมจ่ายรูปแบบใดเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องขบคิด

​ เว้นเสียแต่ว่า คณะกรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี “นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ” เป็นประธาน และ “ดร.อัมมาร สยามวาลา” เป็นที่ปรึกษา ซึ่ง ศ.นพ.รัชตะ แต่งตั้งขึ้น จะเสนอแนวทางอื่นที่สร้างความมั่นคงให้ระบบดีกว่านี้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ แนวทางแก้ปัญหาต้องให้เกิดความสมดุล และไม่กระทบหรือลิดรอนสิทธิรักษาพยาบาลอื่น ไม่แน่ว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการชุดนี้จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายมากน้อยเพียงใด เนื่องจาก “ดร.อัมมาร” และ “นพ.สุวิทย์” เคยเป็นบอร์ด สปสช. ในยุคแรกๆ ของการร่วมวางระบบบัตรทอง จนเกิดกระแสติติงว่าอาจจะเป็นการ “พายเรือในอ่าง”

ข้อมูลจาก นสพ.คมชัดลึก วันที่ 9 กรกฎาคม 2558

พิมพ์ อีเมล