ผู้บริโภคชี้ต้องคุมค่ารักษา-ค่ายา หวั่นแพงขึ้น ระบบหลักประกันฯเสี่ยงล่มสลาย

580603 kunikar
กก.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยัน รธน. ต้องบรรจุเรื่องคุมค่ารักษา - ค่ายา ชี้หากคุมไม่ได้ราคาจะยิ่งแพงขึ้น ระบบหลักประกันสุขภาพฯ เสี่ยงล่มสลาย ใช้ยาไม่สมเหตุสมผล จวกนโยบายเมดิคัล ฮับ ทำแพทย์สมองไหล

 

เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวถึงกรณีมีผู้พยายามถอนข้อกำหนดมาตรา 294 (4) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องกลไกการคุมคุมราคายา และค่ารักษาพยาบาล ว่า ตอนนี้พบกระบวนการหลังรัฐประหารเป็นต้นมามีการเกาะกลุ่มโครงสร้างเชิงอำนาจมากขึ้น ทั้งในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วน จะเห็นเลยว่ามีความพยายามที่ไม่จะยอมให้มีการควบคุมค่ารักษา ค่ายา จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นต้องระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยในกรรมาธิการยกร่างมีการเอาข้อมูลการวิจัยมาดูพบว่า ถ้าไม่มีการควบคุมดูแล รพ.เอกชน จะทำให้ค่ารักษาแพงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพล่มสลายในที่สุด ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้ที่จ่ายค่ารักษาเองเท่านั้น แต่จะเสียหายทั้งระบบ

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ค่ายาก็เช่นกัน หากไม่มีการคุมก็จะยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงนำไปสู่การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล เป็นปัญหาเชื้อดื้อยาตามมาอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์อย่างมีธรรมาภิบาล เช่น ห้ามรับเงินค่าตอบแทน ห้ามทำการส่งเสริมการขายยาใน รพ. แต่พบว่ากลุ่มสมาคมที่ทำงานด้านยาพยายามขอแก้ไขประกาศดังกล่าว และบริษัทยาไม่ยอมให้คุมตรงนี้

"ขณะนี้ประเทศไทยมี รพ.เอกชน เกิดขึ้นมา และรับรักษาตามโครงการเมดิคัล ฮับ ในหลายรัฐบาลเป็นต้นมา เพื่อดึงคนต่างชาติมารักษา นำเงินเข้าประเทศ แต่จริงๆ ตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาแพทย์สมองไหล โดยเฉพาะอาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ ซึ่งหากโรงเรียนแพทย์ต้องการดึงอาจารย์แพทย์ไว้ก็ต้องเปิดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ แล้วเพิ่มค่าตอบแทน" น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

 

กก.มูลนิธิ เพื่อผู้บริโภคยัน รธน. ต้องบรรจุเรื่องคุมค่ารักษา - ค่ายา ชี้หากคุมไม่ได้ราคาจะยิ่งแพงขึ้น ระบบหลักประกันสุขภาพฯ เสี่ยงล่มสลาย ใช้ยาไม่สมเหตุสมผล จวกนโยบายเมดิคัล ฮับ ทำแพทย์สมองไหล

พิมพ์ อีเมล