บุก สธ.ร้อง รพ.เอกชนรังสิตไม่รักษา กลัวไม่มีเงินจ่าย ทำ “ลูกแฝด” ตาย

ร้อง สธ.คลอดลูกแฝดตาย จี้สอบโรงพยาบาลเอกชนย่านรังสิตปฏิเสธการรักษา พยาบาลไล่ไปคลอดที่อื่น ข้องใจเหตุเพราะกลัวไม่มีเงินจ่าย กองประกอบโรคศิลปะตรวจสอบโรงพยาบาล ระบุ ผู้ป่วยขอไปรักษาที่อื่นเอง ชี้ โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

วันที่ 19 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นางวรรณา พ่อครวงศ์ ลูกจ้างบริษัท สยามคูราโบ จำกัด จ.ปทุมธานี พร้อมด้วย นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยและคณะ เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ต่อนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากถูกปฏิเสธการรักษาขณะเจ็บท้องคลอด จนทำให้ลูกแฝดเสียชีวิต โดย นายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษา รมว.สธ.เป็นผู้รับเรื่องแทน

นางวรรณา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 04.00 น. เกิด การเจ็บท้องคลอดอย่างรุนแรง ขณะที่ตั้งครรภ์ได้เพียง 6 เดือน จึงนั่งรถแท็กซี่ไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านรังสิต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ตามสิทธิประกันสังคม แต่ก่อนที่จะถึงโรงพยาบาลน้ำคร่ำแตก เพื่อนที่เดินทางมาด้วยจึงได้โทรศัพท์แจ้งให้ทางโรงพยาบาบาลเตรียมเตียงรับ ผู้ป่วย เมื่อถึงโรงพยาบาลกลับมีเพียงเก้าอี้รถเข็นที่พาไปยังห้องฉุกเฉิน ซึ่งได้พบกับพยาบาล 3 คน มีการตรวจประวัติการฝากครรภ์ พบว่า ตนท้องลูกแฝด และขณะนั้นปากมดลูกเปิดกว่า 7 เซนติเมตรแล้ว แต่พยาบาลกลับบอกว่า ค่าใช้จ่ายเป็นแสนจะสู้ไหวหรือ ไปโรงพยาบาลภูมิพลดีกว่า

นางวรรณา กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็เข็นตนออกไปนอกห้อง ขณะที่สามีพยายามขอร้องให้ช่วยดูแลอาการตนก่อน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ จึงขอให้รถโรงพยาบาลไปส่งที่โรงพยาบาลภูมิพล กลับได้รับคำตอบว่า หากรถโรงพยาบาลนี้ไปส่ง โรงพยาบาลภูมิพลจะไม่รับเข้ารักษา ต่อมาพยาบาลก็ได้มาพูดไล่อีกว่า ทำไมไม่รีบไปรักษาที่อื่นอีก ชักช้าอยู่ทำไม เมื่อสอบถามว่าทำไมต้องมาไล่กันเช่นนี้ พยาบาลก็บอกว่าทำตามที่ผู้ใหญ่สั่ง ตนและแฟนจึงตัดสินใจเรียกรถแท็กซี่ไปโรงพยาบาลภูมิพลด้วยตนเอง กระทั่งคลอดลูกแฝดที่โรงพยาบาลภูมิพลและลูกเสียชีวิต ซึ่งหากตนได้รับการรักษาตั้งแต่แรก บุตรก็คงจะไม่เสียชีวิต การมาร้องเรียนในครั้งนี้จึงต้องการได้รับการชี้แจงจากโรงพยาบาลดังกล่าวว่า มีเหตุผลอะไรถึงปฏิเสธการช่วยเหลือดูแลในวันดังกล่าว

“การ เป็นหมอเมื่อเห็นผู้ป่วยอยู่ตรงหน้าต้องให้การรักษาไม่ใช่หรือ แต่วันนั้นตนไปด้วยอาการค่อนข้างโคม่า ทำไมถึงไม่ให้การรักษาดูแลอะไรเลย ซึ่งการที่ดิฉันใช้สิทธิประกันสังคมและฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ก็เป็นเพราะใช้บริการมานานและเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลมาโดยตลอด พร้อมที่จะฝากชีวิตไว้ที่นี่ ลูกเราจะมีชีวิตอยู่รอดหรือไม่ก็อยู่ที่เขา ดิฉันแค่อยากรู้เหตุผลสำคัญว่าทำไมไม่ให้การดูแลรักษา เป็นเพราะไม่มีเงินจ่ายหรือ”นางวรรณา กล่าว

นายพิเชฐกล่าวว่า ตนจะนำข้อร้องเรียนรายงานให้ รมว.สธ.รับทราบ ซึ่งบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข เช่น การตรวจสอบมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถานพยาบาล ก็จะมอบหมายให้กองประกอบโรคศิลปะลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพของแพทย์และพยาบาล จะส่งเรื่องให้แพทยสภาและสภาการพยาบาลตรวจสอบต่อไป

ด้านนายภัทระ แจ้งศิริเจริญ รักษาการผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่กองประกอบโรคศิลปะลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นร่วม กับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม โดยสอบสวนพยาบาลเวร หัวหน้าพยาบาล และแพทย์เจ้าของไข้ ได้รับการแจ้งว่า คนไข้อยู่ในภาวะฉุกเฉินมีอาการน้ำเดิน และปากมดลูกเปิดแล้วถึง 7 เซนติเมตร จึงแจ้งให้คนไข้ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายสูง เพราะเป็นการคลอดก่อนกำหนด ญาติจึงแจ้งว่าแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวขอย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพล โดยโรงพยาบาลได้ขอรถโรงพยาบาลส่งต่อไปให้ แต่ต้องรออย่างน้อย 30 นาที คนไข้รอไม่ไหวจึงเรียกรถแท็กซี่แทน ซึ่งหากฟังจากการชี้แจงของฝ่ายโรงพยาบาลยังไม่พบประเด็นที่เป็นความผิด อย่างไรก็ตาม จะต้องฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้เสียหายด้วย

“กฎหมาย ระบุไว้ชัดเจนว่า หากผู้ป่วยไปโรงพยาบาลในกรณีที่ฉุกเฉิน โรงพยาบาลนั้นจะต้องให้การบริการ รักษา ดูแลเบื้องต้นจนกว่าจะพ้นขีดอันตราย จากนั้นจึงถามผู้ป่วยว่าประสงค์จะรับการรักษาที่นี่ต่อหรือไม่ หากไม่ก็จะต้องจัดรถไปส่งที่โรงพยาบาลอื่น ซึ่งโรงพยาบาลที่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ส่วนผู้ป่วยสามารถเรียกร้องขอค่าเสียหายจากโรงพยาบาลได้”นายภัทระ กล่าว

ผู้จัดการออนไลน์ 19 มีนาคม 2552 15:41 น

 

พิมพ์ อีเมล