หมอขยาดไม่กล้าผ่าตัดคนไข้ เหตุกลัวถูกฟ้อง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 มีนาคม 2552 08:38 น.
       ASTVผู้จัดการรายวัน - ผลสำรวจยืนยันแพทย์ไม่กล้าผ่าตัด เผย พบโรงพยาบาลชุมชนเหลือแค่ 30% ยังผ่าตัดไส้ติ่ง ระบุ ปี 2551 ผ่าตัดลดลงจากปี 2548 กว่า 20% กว่าครึ่งขยาดกลัวถูกฟ้อง ส่วน 23% ชี้ พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายฯ ช่วยได้ หวั่นคนไข้แออัดในโรงพยาบาลใหญ่ คนไข้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ เล็งสำรวจใหญ่อีกรอบ หาทางแก้ปัญหา
       
       นพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถานบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า จากการสำรวจการผ่าตัดไส้ติ่งของโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 187 แห่ง ระหว่างปี 2548-2551 โดยนำมาเปรียบเทียบกัน พบว่า ในปี 2548 มีการผ่าตัด 55.4% ปี 2549 ลดลงเป็น 49% ปี 2550 ลดลงเป็น 43.3% และปี 2551 ลดลงเป็น 30.6% ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบการผ่าตัดในปี 2548 กับปี 2551 พบว่า ลดลงเกือบ 20% ส่วนเหตุผลที่แพทย์ไม่ทำการผ่าตัดไส้ติ่งแต่เลือกส่งต่อ โดยสามารถตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่า โรงพยาบาลชุมชนกว่าครึ่ง หรือ 94 แห่ง ระบุว่า กลัวการฟ้องร้องแล้วแพทย์ถูกตัดสินจำคุก ส่วนโรงพยาบาลชุมชน 87 แห่ง หรือ 46% ระบุว่า ระยะทางระหว่างโรงพยาบาลชุมชนใกล้กับโรงพยาบาลใหญ่สามารถส่งต่อได้ ในกรณีที่เกิดความเสี่ยงสูง และ โรงพยาบาล 80 แห่ง หรือ 42.8% ระบุว่าไม่มีวิสัญญีแพทย์ และไม่มีความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
       นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อถามว่า หากมี พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ 23% บอกว่า ช่วยได้มาก 55% ช่วยได้บ้าง เพราะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ขณะที่ 15.5% บอกว่า ไม่ช่วยเท่าใดนัก ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีแพทย์จำนวนมากที่เห็นว่า พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายฯ สามารถช่วยได้และเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการพูดคุยหรือสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลควรจะเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อบังคับใช้
       
       “ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่ใช้ยืนยันได้ในเบื้องต้น แต่อาจไม่ครอบคลุมความเห็นของโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมดที่มีมากกว่า 1 พันแห่ง ดังนั้น สวรส.จะทำการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมให้คลอบคลุมพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมถึงศึกษาผลกระทบเมื่อแพทย์ไม่ทำการผ่าตัดแล้ว คนไข้ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลจังหวัดมากขึ้นหรือไม่ หรือได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
       
       นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลสำรวจพบว่า ได้เริ่มสำรวจขณะที่มีข่าวแพทย์ถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งเสียชีวิต การตัดสินใจไม่ผ่าตัดไส้ติ่งจึงอาจเกิดความตื่นตระหนกของแพทย์หรือไม่ อย่างไรก็ตามพบว่า แนวโน้มการผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาลชุมชนลดลงเรื่อยๆ มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว จึงอาจไม่ใช่การตื่นตระหนก แต่ข่าวที่ออกมาเป็นการกระตุ้นความรู้สึกกังวลที่ฝังอยู่ในความรู้สึกของแพทย์มานาน ซึ่งการสำรวจซ้ำจะเป็นการทบทวนสาเหตุของการที่แพทย์ไม่ผ่าตัด รวมถึงจะทราบว่าสถานการณ์ขณะนี้ดีขึ้นหรือแย่ลง รวมถึงมีวิธีการจัดการอย่างไรกับคนไข้ เมื่อได้ผลสรุปจะนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอ เพื่อให้เกิดทางเลือกในการแก้ไขปัญหาต่อไป
       
       “เมื่อก่อนโรงพยาบาลชุมชนให้บริการผ่าตัดไส้ติ่ง ดมยาได้เป็นปกติอยู่แล้ว แต่ขณะนี้การผ่าตัดลดลงเรื่อยๆ จะมีการศึกษาด้วยว่าการผ่าตัดที่ใกล้เคียงกันมีจำนวนลดน้อยลงด้วยหรือไม่ เช่น การผ่าตัดโรคไส้เลื่อน การทำหมัน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจรวมถึงการคลอดบุตร ที่แม้ไม่ถือว่าเป็นการผ่าตัด แต่หากเป็นการผ่าคลอดถือว่ามีความยุ่งยากมากกว่าเพราะคนไข้ต้องเสียเลือดมาก จึงมีการส่งต่อในโรงพยาบาลใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกแห่ง เพราะโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะมีการทำคลอดโดยพยาบาล แต่หากมีความผิดปกติอาจรายงานแพทย์เวรแต่ในกรณีที่ยากมากจึงส่งให้สูตินรีแพทย์ เนื่องจากสูตินรีแพทย์เป็นสาขาที่มีไม่เพียงพอเช่นเดียวกัน ดังนั้น จะพิจารณาด้วยว่า การผ่าท้องคลอดลงลงด้วยหรือไม่” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
       
       นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า กรณีที่วิสัญญีแพทย์ไม่เพียงพอนั้นควรจะมีการทบทวนกันใหม่ว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้วิสัญญีแพทย์ในกรณีใดบ้าง เนื่องจากมาตรฐานการบริการด้านสาธารณสุขของไทยสภาพโดยทั่วไป คงไม่มีแพทย์เพียงพอสำหรับดูแลคนไข้ทุกราย ดังนั้น จึงอาจมีข้อผ่อนปรนให้กับแพทย์ทั่วไปสามารถที่จะปฏิบัติได้ โดยจะต้องมีการทำความเข้าใจกับทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อให้แพทย์ก็สามารถรักษาคนไข้ได้โดยไม่ต้องกลัวความผิดและคนไข้ไม่เสียประโยชน์

พิมพ์ อีเมล