สธ.นัดถก พ.ร.บ.สมานฉันท์หมอ-คนไข้ 27 ส.ค.นี้

สธ.นัดถก พ.ร.บ.สมานฉันท์ หมอ-คนไข้ 27 ส.ค.นี้ ได้ฤกษ์สรุปความเห็นต่างประเด็น ชื่อ-ที่ตั้ง สนง.-สัดส่วนกรรมการ-การไกล่เกลี่ย


       
       วันที่ 24 สิงหาคม นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ในวันที่ 27 ส.ค.นายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นประธานในการประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรบริการสาธารณสุข พ.ศ...ที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่มาก แต่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เร่งรัดมาให้พิจารณาโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าการประชุมในครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงได้ข้อสรุป
       
       “เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ได้หารือกันแล้ว แต่ก็ยังคงไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ สธ.จะส่งความคิดเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้ที่เป็นเอกฉันท์กลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นส่งเรื่องต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ และส่งไปยังสภานิติบัญญัติเพื่อพิจารณาต่อไป” นางปรียนันท์ กล่าว
       
       นางปรียนันท์ กล่าวต่อว่า ในส่วนที่แต่ละฝ่ายยังเห็นแตกต่างกันมี 4 ประเด็น คือ 1.ชื่อของกฎหมายฉบับนี้ ที่มีการเปลี่ยนชื่อให้เป็นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริม จากเดิมที่เป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครอง ซึ่งถือว่าเป็นอย่างแรกที่ฝ่ายผู้เสียหายรับไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเพียงชื่อเท่านั้น แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว คือ การคุ้มครองผู้เสียหาย แต่กลับเปลี่ยนชื่อไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว
       
       2.สำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ควรที่จะบริหารจัดการเป็นองค์กรอิสระ ไม่ควรอยู่ในสังกัดของ สธ.ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นคู่กรณีกับผู้เสียหายอยู่แล้ว แม้ว่าจะบริหารจัดการแบบองค์กรอิสระไม่ได้ อย่างน้อยจะให้สำนักงานดังกล่าวสังกัดภายใต้การบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด
       
       “แม้ว่าจะบริหารเป็นอิสระไม่ได้ แต่หากให้ สปสช.บริหารจัดการก็ยังดีกว่าอยู่ภายใต้การบริหารงานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สธ.เพราะ สปสช.อยู่ในฐานะผู้ซื้อบริการสาธารณสุขจาก สธ.อีกทั้งมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนชดเชยผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุขตามมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และยังมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำทุกจังหวัดด้วย” นางปรียนันท์ กล่าว
       
       นางปรียนันท์ กล่าวต่อว่า 3.สัดส่วนของคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ จากเดิมที่แบ่งฝ่ายสภาวิชาชีพและภาคประชาชนฝ่ายละ 6 คน แต่ภายหลังมีการเพิ่มสภาวิชาชีพ รวมเป็น 8 คน ซึ่งองค์กรผู้บริโภค เห็นว่า หากสัดส่วนของคณะกรรมการฯที่ไม่เท่ากันจะทำให้จะยิ่งทำให้กระบวนการชดเชยเป็นไปได้ยาก
       
       “สุดท้ายประเด็นเรื่องการไกล่เกลี่ยที่ทั้งวิชาชีพแพทย์และฝ่ายผู้ป่วยเห็นตรงกันแล้วว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการไกล่เกลี่ยในกฎหมายนี้อีก เพราะที่ผ่านมามีระบบการไกล่เกลี่ยแต่ก็ไม่ช่วยให้มีการช่วยเหลือผู้ป่วยแต่อย่างใด อีกทั้งจะทำให้การชดเชยเป็นไปด้วยความลำบาก จึงไม่ควรให้มีการไกล่เกลี่ยอีก” นางปรียนันท์ กล่าว

พิมพ์ อีเมล