เดินหน้าต่อ! เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษฯ ยื่นอุทธรณ์ คกก. ข้อมูลข่าวสารทางราชการ หลังถูกปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลต่อทะเบียนสารพิษ

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 10210

 

1006142

ภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง เดินหน้าอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการ หลังกรมวิชาการเกษตรปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลต่อทะเบียนสารพิษ 3 ชนิด 

 

ตามที่เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2560 กรมวิชาการเกษตร ได้อนุญาตให้มีการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ทั้งที่ขัดกับมติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงนั้น

ล่าสุด (20 มิถุนายน 2561) นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงเปิดเผยว่า ภาคีเครือข่ายฯ ได้ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารตามทางราชการ พ.ศ. 2540 ขอให้ทางกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับการต่ออายุใบสำคัญ บัญชีรายการสารเคมีที่ต่อทะเบียน คำขอต่อทะเบียน และรายงานการประชุมที่เกี่ยวข้อง แต่กรมวิชาการเกษตรได้ใช้เวลาถึง 5 เดือนเต็มในการตอบและยังปฏิเสธการให้ข้อมูลดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องขออนุญาตจากผู้ขอต่อทะเบียนเฉพาะราย และบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ได้รับการต่อทะเบียนนั้นไม่ควรเปิดเผยโดยเห็นว่าอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ทางภาคีเครือข่ายฯ จึงใช้สิทธิอุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการ เพราะข้ออ้างของกรมวิชาการเกษตรนั้นขัดกฎหมายหลายฉบับ

นางสาวปรกชล กล่าวอีกว่า การที่กรมวิชาการเกษตรมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยไม่ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลของคำสั่งหรือการใช้ดุลพินิจให้ทราบโดยชัดแจ้ง มีเพียงการกล่าวถึงข้อกฎหมายที่อ้างอิงนั้น ขัดต่อมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เนื่องจากเอกสารบัญชีรายการต่ออายุ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย เป็นข้อมูลข่าวสารของราชการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา 9(8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

Prokchon

ภาพนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง

“ข้อมูลที่ภาคีเครือข่ายฯ ขอนั้น เป็นเอกสารประกอบคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทั้งหมดที่มีผู้ยื่นต่อกรมวิชาการเกษตร ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลที่เป็นความลับหรือข้อมูลที่หากเปิดเผยจะกระทบต่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอันจะต้องสอบถามความยินยอมจากผู้มีส่วนได้เสียนั้นก่อน ตรงกันข้ามกลับเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสามารถใช้ดุลพินิจที่จะมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันตามหลักเกณฑ์มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” นางสาวปรกชล กล่าว

นางสาวปรกชล กล่าวต่อว่า การที่กรมวิชาการเกษตรมิได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอโดยกล่าวอ้างว่าต้องขอความยินยอมจากผู้ยื่นคำขอต่ออายุทะเบียนเป็นรายกรณีเสียก่อนจึงจะเปิดเผยข้อมูลได้ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ด้วย ทางภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง จึงตัดสินใจอุทธรณ์และขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามคำขอทั้งหมด เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสร้างบรรทัดฐานที่ดีเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของราชการโดยมิให้ล่าช้า อันมีลักษณะขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลในการใช้สิทธิตามกฎหมายและเพื่อให้หน่วยงานรัฐยึดถือปฏิบัติต่อไป

นางสาวปรกชล กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังการต่อทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรให้กับสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงเหล่านี้ พบว่า มีการนำเข้ามากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะ พาราควอต ที่ในปี 2560 นำเข้ามากถึง 44.5 ล้านกิโลกรัม คิดเป็น 2 เท่าของการนำเข้าในปี 2557 และมากกว่าการนำเข้าในปี 2559 กว่าร้อยละ 41 ในขณะที่มีการนำเข้าคลอร์ไพรีฟอส ในปี2560 ก็เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 

 

 

 

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, พาราควอต, คลอไพริฟอส, ไกลโฟเซต, เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษ

พิมพ์