ขอนแก่นเสริมศักยภาพผู้บริโภค-หน่วยงานรัฐ เฝ้าระวังจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับจังหวัด

เขียนโดย นายศตคุณ คนไว ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน. จำนวนผู้ชม: 2743

601204 news1
เมื่อวันที่ ๔ ธ.ค. ๖๐  สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นร่วมกับกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือของเครือข่ายภาครัฐ ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคอุ่นใจ จ.ขอนแก่น 

ณ ศูนย์เยาวชนจังหวัดขอนแก่น ถ.หน้าเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน ๘๐ คน จากตัวแทนชุมชน อสม., เครือข่ายผู้บริโภค ,เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ในพื้นที่ ๘ อำเภอได้แก่ อำเภอเมือง ,อ.น้ำพอง ,อ.หนองสองห้อง, อ.หนองเรือ , อ.ชุมแพ, อ.พล, อ.บ้านไผ่, อ.ภูเวียง และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐได้แก่ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) ,สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.), โรงพยาบาลชุมชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีวิทยากร ภก.กนกพร ธัญมณีสิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นและภก.ศุภนัย ประเสริฐสุข จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของผู้บริโภคต่อการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น กล่าวรายงานต่อประธานเปิดงานเล่าว่า การจัดประชุมวันนี้เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการจัดการเรื่องร้องเรียนด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพและการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ในระดับอำเภอ ตำบล ชุมชน และร่วมกันเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ กิจกรรมวันนี้ผู้เข้าร่วมจะได้ฝึกปฏิบัติ เข้าฐานเรียนรู้ จัดทำแผน การจัดการเรื่องร้องเรียน ให้ผู้เข้าร่วมได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพิทักษ์สิทธิของตนเอง เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนงานเฝ้าระวัง รับเรื่องร้องเรียนโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยสนับสนุน ซึ่งมีวิทยากรจากกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นจัดกระบวนการเรียนรู้โดยแบ่ งเป็นฐานให้ผู้เข้าร่วมนำไปปฏิบัติการในพื้นที่ต่อไป


ทางด้าน ภก.วีระวรรณ รุจิจนากุล หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน กล่าวว่าการประชุมวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่นและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นเป็นแกนนำหลักในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาครัฐ ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอขอบคุณคณะผู้จัด ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้เครือข่ายปฏิบัติงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะในระดับพื้นที่ได้พัฒนาทักษะในการสร้างทีมปฏิบัติการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนทันเหตุการณ์ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญให้การจัดกิจกรรมในวันนี้ จงประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ทุกประการ

601204 news2
ทางด้านนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ออกประกาศจังหวัดขอนแก่นเรื่องแนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยประกาศเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ดังนี้
๑. ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ยา จะต้องได้รับอนุญาตโฆษณาก่อนเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ โดยให้ผู้เผยแพร่โฆษณาจะต้องตรวจสอบใบอนุญาตชิ้นนั้นๆ ก่อนทำการเผยแพร่และเนื้อหาที่โฆษณาต้องตรงกับที่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาทุกประการ ทั้งเสียง ภาพ หรือข้อความ


๒. เนื้อหาที่โฆษณาต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ดังนี้
๒.๑ ผลิตภัณฑ์อาหาร คือของกิน ดื่ม อมเพื่อค้ำจุนชีวิตไม่สามารถอ้างว่าวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้

๒.๒ ผลิตภัณฑ์ยา คือ ของที่ใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ ต้องไม่โฆษณาว่าสามารถบำบัดบรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด ไม่แสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินความจริงไม่โฆษณาว่าเป็นยาทำให้แท้งหรือขับระดูอย่างแรง ไม่ทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกามหรือยาคุมกำเนิด ไม่แสดงสรรพคุณยาอันตรายหรือควบคุมพิเศษ ไม่มีการรับรองสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น ไม่อวดอ้างสรรพคุณหรือส่อให้เกิดความเข้าใจว่าเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ไม่โฆษณาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคเบาหวาน มะเร็ง อัมพาต วัณโรค โรคเรื้อน โรคหรืออาการของโรคสมอง หัวใจ ตับ ม้าม ไต

๒.๓ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือของที่ใช้สำหรับทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม ไม่สามารถอ้างว่าวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้

ผู้ใดเผยแพร่โฆษณาโดยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ยา พศ.๒๕๔๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ. อาหาร พศ.๒๕๒๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ,ส่วนผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๕๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
หากผู้บริโภคต้องการขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนปัญหาของผู้บริโภค สามารถร้องเรียนได้ที่
●กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ๐๔๓-๒๒๑๑๒๕ ต่อ ๑๕๑
●สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ๐๘๓-๕๙๙-๙๔๘๙
●สายด่วน อย. ๑๕๕๖
……………………………………………………………………
■นายศตคุณ คนไว ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน : รายงาน

พิมพ์