เอฟทีเอว็อทช์เสนอ ก.พาณิชย์แยก3,000คำขอสิทธิบัตรยา ตั้งคกก.ตรวจพิเศษ

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 2441

600307 newsfta
เมื่อเวลา 14 นาฬิกา นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ( fta watch ) พร้อมด้วยตัวแทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยื่นหนังสือถึงนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ยุติการออกคำสั่งตาม ม.44 เพื่อเร่งให้สิทธิบัตร และได้หารือข้อเสนอกับ นายทศพล ตังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ เปิดเผยถึงข้อเสนอทางออกของปัญหาการออกสิทธิบัตรล่าช้า โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 ดังนี้



1. คัดแยกคำขอที่ผู้ขอละทิ้งแล้ว และคัดแยกคำขอที่ผิดมาตรา 9 ตามพ.ร.บ.สิทธิบัตรชัดๆ โดยเฉพาะคำขอที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และจุลชีพต่างๆ ออกจากระบบ

2. คัดแยกคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยา และมีแนวโน้มที่เกี่ยวกับยา และ Biochemical ออกมาโดยมีคณะกรรมการร่วมที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการมาพิจารณาเป็นพิเศษโดยใช้คู่มือตรวจสอบฯ

     2.1 เริ่มด้วยการตัดคำขอที่ชื่อเป็น ‘การใช้’ มีข้อถือสิทธิหลักก็เป็น ‘การใช้’ ถือว่าเป็นเรื่องการใช้ (Use Claim) ผิดมาตรา 9 ให้ยกคำขอเหล่านี้ทิ้งไป จากการศึกษาเรื่องสิทธิบัตรที่เป็น Ever greening Patent ชี้ว่า มีคำขอประเภทนี้ประมาณ 20%
     2.2 แยกคำขอที่มีข้อถือสิทธิการใช้ยาเป็นข้อถือสิทธิรอง ให้ส่งกลับไปยังผู้ขอเพื่อให้ตัดข้อถือสิทธินี้ออก ถ้าไม่ตัดให้ยกคำขอนี้ ซึ่งการศึกษาฯชี้ว่า มีคำขอประเภทนี้มาถึง 75%

3. คำขอที่ค้างเกินกว่า 2 ปี ให้ประกาศโฆษณา โดยทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องทำ icon ใน เว็บไซท์ให้สามารถค้นได้ในทันทีว่า แต่ละวันนั้น ทางกรมฯประกาศโฆษณาอะไรบ้าง


4. ให้เร่งรัดการใช้ชื่อผู้ทรงสิทธิตามที่ขึ้นในทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจพาณิชย์ เพราะขณะนี้ผู้ทรงสิทธิใช้ชื่อเขียนคำไทยด้วยตัวสะกดที่แตกต่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการค้นหา


5. มาตรการระยะกลาง คือ ปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการที่เยิ่นเย้อของกรมฯ เช่น ระยะเวลาการโต้ตอบเอกสาร จำนวนครั้งการโต้ตอบเอกสาร กำหนดให้ชัดเจน


6. ทบทวนการนำเสนอข้อมูล Bibliography ตามที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเคยเสนอแนะไว้ ว่าสมควรหรือไม่ หรือสามารถทำได้ในขีดจำกัดเท่าใดที่ไม่ละเมิด เพราะที่ผ่านมา ทางกรมฯ มักอ้างว่า ทำไม่ได้เพราะจะละเมิด แต่ไม่เคยดูเลยในรายละเอียดว่า ละเมิดอะไร และเปิดเผยข้อมูลได้แค่ไหนบ้าง


7. ในการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร รื้อระบบประกาศโฆษณา ลดเวลาการยื่นตรวจสอบ ปฏิวัติระบบฐานข้อมูลและการสืบค้นให้ง่าย และเพิ่มระยะเวลาการคัดค้าน


8. ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและ อย.จัดเตรียมพื้นที่บนเว็บไซท์ของทั้งสองหน่วยงานเพื่อให้ผู้ประกอบการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนยาแล้ว เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูได้ทั้งข้อมูลสิทธิบัตรและข้อมูลทะเบียนยา ส่วนความรับผิดชอบต่อความถูกต้องของข้อมูลสิทธิบัตรยาให้เป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของทะเบียนยา 9. ให้ถือว่าเป็นหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาในการสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยการให้บริการแก่บริษัทยาชื่อสามัญของไทยในการตรวจสอบว่า ยาในบัญชีนวัตกรรม หรือยาที่บริษัทยาชื่อสามัญของไทยสนใจและมีศักยภาพที่จะผลิตได้ติดสิทธิบัตรหรือไม่

วันพรุ่งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นัดหารือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในเวลา 16.30 น.ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

พิมพ์