เอาจริง คุมสารพิษตกค้างสูงสุดที่ยอมให้มีได้ในสินค้าเกษตร

580609 food2
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ลุยกำหนดมาตรฐานสารตกค้าง เดินหน้าผลักดันอาเซียนรับรอง-ลดปมกีดกันนำเข้า

รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 9 มิ.ย. 58 นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยว่า มกอช. มีบทบาทในการกำหนดค่ามาตรฐานสารพิษตกค้างหรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ ยอมให้มีได้ในสินค้าเกษตร (MRL) ของอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญอาเซียนเพื่อร่วมกำหนดค่า MRL ของภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 19 ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดยได้มีการกำหนดค่า MRL ของอาเซียนไปแล้ว 925 ค่า จากสารเคมีทางการเกษตร 73 ชนิด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex) ในจำนวนนี้เป็นค่า MRL ที่กำหนดตามข้อมูลของประเทศสมาชิกอาเซียน 48 ค่า โดยเป็นข้อมูลของไทยถึง 40 ค่า ในพืชอาหารที่สำคัญ

580609 foodนายศักดิ์ชัยกล่าวอีกว่า มกอช. มีแผนเร่งผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันกำหนดค่า MRL ของอาเซียนมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมลดปัญหากีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งผลักดันให้ ASEAN MRLs เป็น National MRLs หรือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งคาดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (AEC) และตลาดโลกเกิดความคล่องตัวมากขึ้น และจะช่วยนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ มกอช.ยังได้ร่วมจัดทำมาตรฐานพืชสวนและพืชอาหารอาเซียน ผ่านคณะทำงานชุดต่างๆ ภายใต้รัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้ (AMAFF) โดยปัจจุบันอาเซียนได้ประกาศรับรองมาตรฐานผลไม้ มาตรฐานผักและมาตรฐานพืชอื่นๆ แล้ว 40 เรื่อง เน้นเกณฑ์คุณภาพของสินค้าซึ่งสามารถใช้อ้างอิงทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และใช้อ้างอิงสำหรับสินค้านอกอาเซียนด้วย ในปี 2558 นี้ อาเซียนได้มีแผนร่วมกำหนดมาตรฐานพืชสวนเพิ่มเติม 6 รายการ ได้แก่ บร็อกโคลี่ กะหล่ำดอก ผักกาดหอม มะระ บวบ และพริกไทยดำ

"ขณะเดียวกัน มกอช. ได้ปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร หรือ GAP พืชอาหาร (มกษ. 9001) และมาตรฐานสินค้ากุ้งให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอาเซียนแล้ว ทั้งยังได้ร่วมผลักดันมาตรฐานอาหารฮาลาลอาเซียน รวมถึงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาเซียน ซึ่งเทียบเคียงกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของเอเชีย (AROS) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างผลักดันแนวทางการปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์สำหรับไก่ เนื้อและไก่ไข่ให้เป็นมาตรฐานของอาเซียนด้วย" เลขาธิการ มกอช.กล่าว

อ้างอิงข้อมูลจาก นสพ.แนวหน้า 9 มิ.ย. 58
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล