เอ็นจีโอเอดส์เตรียมเข้าพบ “อลงกรณ์” พร้อมฉะ ก.พาณิชย์ ไม่เห็นค่าชีวิต ปชช.

เอ็นจีโอเอดส์ เตรียมเข้าพบ “อลงกรณ์” ก่อนไปสหรัฐฯ สัปดาห์หน้า พร้อมฉะ ก.พาณิชย์ เอาชีวิตประชาชนทั้งประเทศไปแลกกับสิ่งที่เป็นภาพลวงตา


       

       นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าเครือข่ายที่ทำงานด้านการเข้าถึงยาจะเข้าพบนายอลงกรณ์ พลบุตร เพื่อหารือถึงท่าทีของที่ทำหนังสือถึง สธ. เรื่องขอให้ไม่ประกาศซีแอล เพื่อให้ประเทศไทยเลื่อนไปเป็นประเทศที่ถูกจับตามองด้านการละเมิดทรัพย์สิน ทางปัญญา (ดับบลิวแอล) จากเดิมที่เป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) โดยขณะนี้กำลังกำหนดวัน แต่จะเข้าพบก่อนที่นายอลงกรณ์ จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา กลางเดือนมีนาคมนี้

       
       “ท่าทีเช่นนี้ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นเรื่องแย่มาก เอาชีวิตประชาชนทั้งประเทศไปแลกกับสิ่งที่เป็นภาพลวงตาที่บริษัทยาข้ามชาติ สร้างขึ้นมาหลอกลวง และเท่ากับให้ไทยยกเลิกอธิปไตยของตัวเอง ที่แย่ที่สุดคือ การประกาศไม่ทำซีแอลจะทำให้ไทยไม่สามารถต่อรองราคายาได้เลย ทั้งที่ผ่านมาบริษัทยาจำนวนมากยอมเข้ามาเจรจาต่อรองลดราคายา” นายนิมิตร์ กล่าว

       
       นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หน่วยงานวิจัยอิสระของกระทรวงสาธารณสุขได้ศึกษาผลกระทบจากการทำซีแอล พบว่า แม้สหรัฐฯ ปรับประเทศไทยเป็นพีดับบลิวแอล จะมีความเกี่ยวโยงกับการทำซีแอลของไทย แต่ขาดหลักฐานที่เชื่อมโยงการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) กับสินค้าของไทย และยังพบว่า การตัดจีเอสพีของไทยในสินค้า 3 รายการไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมและความมั่นใจของนักลงทุนในระยะที่ ผ่านมา ขณะที่การทำซีแอลทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และอายุยืนยาวขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,488 ล้านบาท

       
       นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ท่าทีของ พณ.ก็รับไม่ได้กับแผนปฏิบัติการของสหรัฐฯที่จะให้ไทยหลุดจากพีดับบลิวแอล เป็นดับบลิวแอล โดยได้ให้นโยบายกับ นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไปแล้วว่า อย่ายอมรับเงื่อนไขใดๆ ตามที่สหรัฐฯต้องการ และต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงต้องขอความเห็นชอบจากคณะ รัฐมนตรี (ครม.) ก่อน เพราะบางเงื่อนไขสหรัฐฯอาจขอในสิ่งที่ไทยทำไม่ได้ และมากกว่าข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยผูกพันไว้ และในวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 นางพวงรัตน์ ให้สัมภาษณ์สอดคล้องกันว่า พณ.จะไม่รับเงื่อนไขใดๆ ของสหรัฐฯที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่สหรัฐฯต้องการให้บรรจุในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นการคุ้มครองความลับข้อมูลยา

       
       “ใช่ ว่าไทยทำแผนปฏิบัติการร่วมกับสหรัฐฯแล้วจะปรับให้ไทยเป็นดับบลิวแอล อาจคงสถานะเหมือนเดิมก็ได้ ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรใจร้อนรับเงื่อนไขใดๆ อีกทั้งการเลื่อนเป็นพีดับบลิวแอลไม่ได้ทำให้ขนของเราร่วง และอย่ากังวลมากเกินไป ขณะนี้กระแสเรื่อง พีดับบลิวแอลในไทยแรง ทุกคนกลัวมากเกินไป จนสหรัฐฯอาจนำไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจาทำแผนปฏิบัติการทุกเรื่อง มีการพิจารณาบนระเบียบ และกติกาแม้แต่การตัดจีเอสพีก็มีเงื่อนไขการตัดสิทธิมากมาย ไม่ใช่ประเด็นละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเดียวแต่อยากให้ตระหนักว่า การให้จีเอสพีเป็นสิทธิฝ่ายเดียวของสหรัฐฯที่จะให้หรือไม่ให้ใครก็ได้ แต่ยืนยันว่า ไทยไม่ถูกเลื่อนสถานะให้อยู่ในบัญชีประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สูงสุดแน่นอน” นายนิมิตร์ กล่าว

 

4/3/52 นสพ.ผู้จัดการ

พิมพ์ อีเมล