คอบช. ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. ทบทวนขึ้นราคาค่าโดยสารบีทีเอส

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 3516

press bts news 01092560 cover

คอบช. เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้ทบทวนการอนุมัติขึ้นราคาค่าโดยสารบีทีเอสที่กำลังจะปรับขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ ชี้บีทีเอสยังมีรายได้สูง ไม่มีเหตุอันจำเป็นต้องปรับค่าโดยสาร ซึ่งจะเป็นภาระค่าครองชีพสำหรับคนเมืองกรุง
 
         วันนี้ (1 ก.ย.60) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ทำหนังสือถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้พิจารณาทบทวนการอนุมัติขึ้นราคาค่าโดยสารบีทีเอส ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่กำลังจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 นี้ โดย คอบช.ได้ให้เหตุผลว่า บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ นั้นมีผลกำไรต่อเนื่องจากการดำเนินงานกิจการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยรายได้จากไตรมาสแรกปี 2560/61 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 100.2 จากปีก่อน 1,553.5 ล้านบาท เป็น 3,110.3 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงในไตรมาสเดียวกันนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากปีก่อน เป็น 543.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นตามสัญญาของรายได้ค่าเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวในปัจจุบัน และจากสถานีสำโรง (E15) ซึ่งเป็นสถานีแรกในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ส่วนยอดรวมผู้โดยสารในส่วนรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักในไตรมาสเดียวกันนี้ มีจำนวน 58 ล้านเที่ยว เติบโตขึ้นร้อยละ 2.8 จากปีก่อน รวมถึงรายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาในไตรมาสเดียวกันก็เติบโตร้อยละ 36.8 หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น 228.5 ล้านบาท จากปีก่อน ดังนั้นเมื่อบีทีเอสมีรายได้ที่สูงมากถึงร้อยละ 196.9 จึงไม่มีเหตุอันจำเป็นที่ต้องปรับขึ้นค่าโดยสารซึ่งจะทำให้ค่าครองชีพของคนกรุงเพิ่มขึ้นตามมา
 
         ทั้งนี้ งานวิจัยของ คอบช. ด้านบริการสาธารณะ เกี่ยวกับโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมของรถไฟฟ้า พบว่าประเทศไทยมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่แพงกว่าเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ รวมทั้งค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสแพงกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าอีก 2 สาย ถ้าหากคิดเทียบเคียงจาก 10 สถานีของรถไฟฟ้าบีทีเอส ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าโดยสารประมาณ 3 เหรียญ 41 เซนต์ ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นในโตเกียวจ่ายเพียง 1 เหรียญ  91 เซนต์เท่านั้น และในบางประเทศคิดราคาตามระยะทางกิโลเมตร แต่ประเทศไทยคิดราคาตามสถานี อีกทั้งในงานวิจัยพบว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท แทบไม่มีโอกาสขึ้นรถไฟฟ้าเลย แม้จะอยู่หน้าที่พักของตนเองเพราะมีราคาแพง
 
         นอกจากนี้ มีผู้ร้องเรียนเรื่องค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการรถไฟฟ้าจากสถานีรัตนาธิเบศร์ ถึงสถานีสีลมหรือบางนา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 200 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไป ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทได้ รวมถึงขอให้มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลเพื่อเร่งปฏิรูประบบบริการขนส่งสาธารณะเพื่อทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการที่เกิดขึ้นจริง

ดาวน์โหลด: หนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง ขอให้ทบทวนการขึ้นราคาค่าโดยสารบีทีเอส

พิมพ์