คอบช.เสนอยุบกองทุนน้ำมัน ตั้งคำถามรัฐบาลธรรมาภิบาล ออกกฎหมายกองทุนน้ำมันเก็บเงินประชาชนเพื่อประโยชน์ใคร?

เขียนโดย คอบช.. จำนวนผู้ชม: 2995

press cover 29052017 006

คอบช. ชี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหมดความจำเป็นไม่มีเหตุผลต้องออกเป็นกฎหมายใหม่เพราะรัฐเดินหน้าปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันทุกชนิดหมดแล้ว เห็นควรให้รัฐบาลยุบกองทุนน้ำมันฯดีกว่าจะยกร่างออกกฎหมายใหม่เพื่อเปิดทางให้มีการนำเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาทในกองทุนน้ำมันฯไปอุ้มการลงทุนของภาคเอกชน โดยที่ประชาชนผู้ใช้น้ำมันอาจต้องรับภาระราคาน้ำมันหนักขึ้นกว่าเดิม

           วันนี้ 29 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช.) ด้านบริการสาธารณะ ประกอบด้วย ผศ.ประสาท มีแต้ม นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ในฐานะกรรมการ คอบช. ด้านบริการสาธารณะ นางสาวรสนา  โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านพลังงาน และนายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา ผู้แทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าวให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ประกาศการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ..... เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา และจะเปิดเวทีสัมมนารับฟังความเห็นที่สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต ในวันที่ 1 มิถุนายน ที่จะถึงนี้

press cover 29052017 004

           ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านการบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ได้เปิดเผยว่า คอบช.ด้านบริการสาธารณะได้มีการประชุมและมีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ของรัฐบาล อาจมีเนื้อหาวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง” คอบช. ด้านบริการสาธารณะ จึงไม่เห็นด้วยต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ของรัฐบาลทั้งฉบับซึ่งรวมทั้งหลักการ เหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมายฉบับนี้ และขอให้รัฐบาลยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยโดยเร็ว 

press cover 29052017 002

           นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา ผู้แทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516  ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้เคยมีมติ และได้มีหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547

           “เหตุผลสำคัญที่ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยกเลิกคำสั่งดังการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฉบับกล่าว เพราะเมื่อพิจารณาพระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว ไม่พบว่ามีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจในการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การมีคำสั่งนายกฯดังกล่าวนี้ จึงเป็นการออกคำสั่งที่มีเนื้อหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการเรียกเก็บเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯตามคำสั่งนายกฯที่กำหนดให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยไม่นำส่งคลังก่อน จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 12 รวมถึง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 ด้วย ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนี้ยังดำเนินการอยู่ โดย ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2560 มีฐานะกองทุนสุทธิ 39,958 ล้านบาท” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

            นายอิฐบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการแก้ปัญหาการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ จะกระทำได้โดยการตราเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อพิจารณาในวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนน้ำมัน 5 ข้อที่ปรากฏในมาตรา 3 ของร่างกฎหมาย และการกำหนดวงเงินสะสมของกองทุนน้ำมันไว้ในมาตรา 26 สูงถึงสี่หมื่นล้านบาท และกรณีที่กองทุนมีจำนวนเงินไม่เพียงพอ ซึ่งสามารถรวมได้ถึงกรณีที่กองทุนมีสถานะติดลบดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็ยังให้กองทุนสามารถกู้ยืมเงินได้ถึงสองหมื่นล้านบาท  ว่าเป็นความจำเป็นในการตรากฎหมายนั้น คอบช.ด้านบริการสาธารณะ ไม่เห็นด้วยและเห็นว่า เป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคและเป็นภาระต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

โดยในวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯในข้อที่ 1–3 นายอิฐบูรณ์ ได้ให้ข้อมูลและเหตุผลที่ คอบช.ด้านบริการสาธารณะ ไม่เห็นด้วยว่า

1. วัตถุประสงค์เพื่อ “รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง”

           คอบช.ด้านบริการสาธารณะ  ไม่เห็นด้วย และเห็นว่า การมีกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศนั้นไม่เป็นความจริง เป็นเหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในข้อ 6.9 เรื่องนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ

อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่ได้กำหนดกรอบและแนวทางในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยให้ราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริง ดังนั้นการกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันในข้อนี้จึงไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันแล้วและเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน เพราะในปัจจุบันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดทั้งเบนซิน ดีเซล ก๊าซ LPG และก๊าซ NGV รัฐบาลได้เดินหน้าใช้นโยบายยกเลิกการควบคุมราคาแบบคงที่และให้ใช้ราคาลอยตัวตามราคาในตลาดโลกหมดแล้ว           

2. วัตถุประสงค์เพื่อ “สนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีส่วนต่างราคาที่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้”

           คอบช. ด้านบริการสาธารณะไม่เห็นด้วยเพราะว่าการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเพื่อสนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาด้านราคาของเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศอย่างแท้จริง ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซลและเอทานอล ต่างมีราคาที่แพงกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ และบางครั้งอาจแพงกว่าราคาเชื้อเพลิงชีวภาพในตลาดสำคัญของโลกด้วย ชี้ให้เห็นว่าการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของประเทศไทยมีต้นทุนที่สูงจนไม่สามารถแข่งขันราคากับประเทศอื่นได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเชื้อเพลิงชีวภาพของเกษตรกรและโรงงานผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลให้ลดต่ำลงมา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและคุณภาพสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันราคาตามกลไกตลาดโลกที่แท้จริงได้

          การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชยให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพถือเป็นการช่วยเหลือที่ปลายน้ำ และเป็นการบิดเบือนราคา ทำให้ราคาไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนชนิดหนึ่งนั้น ไม่ควรอยู่ภายใต้การดำเนินการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ที่ไม่ได้มีภารกิจในด้านนี้เป็นการเฉพาะ การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้นโยบายและกฎหมายที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนกว่า ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว

3. วัตถุประสงค์เพื่อ บรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส

           คอบช.ด้านบริการสาธารณะ เห็นว่าการที่รัฐบาลจะนำเงินจากกองทุนน้ำมันซึ่งเก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันมาช่วยเหลือกลุ่มประชาชนผู้ใช้น้ำมันที่มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง จึงเป็นการไม่สมควรเป็นการเบียดบังประชาชน และเป็นการสร้างภาระซ้ำซ้อนให้กับประชาชนมากขึ้น รัฐบาลควรนำรายได้จากภาษี เช่น ภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากราคาน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลมีรายได้จากภาษีส่วนนี้เฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 514.6 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเดือนละ  15,438 ล้านบาท หรือเท่ากับ 185,256 ล้านต่อปี นำมาสนองนโยบายของรัฐบาลในการบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสจะเป็นการเหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชน โดยไม่ต้องเพิ่มภาระให้กับประชาชนด้วยการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯอีก

press cover 29052017 006

           สำหรับวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนน้ำมัน ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 4 และ 5 นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปด้านพลังงาน ได้ให้ข้อมูลว่า ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 4 เพื่อ สนับสนุนการลงทุนในการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เพื่อป้องกันภาวะ การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงทางด้านพลังงานคอบช.ด้านบริการสาธารณะ มีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีการตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเลย เพราะการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์นั้นถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้ค้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมันอยู่แล้ว

           ทั้งนี้มีกฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2509 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการกลั่นและค้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปโดยเหมาะสม เกี่ยวกับคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงและการให้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ มีปริมาณพอควร เพื่อประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน ประเทศไทยจึงเริ่มสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง โดยภาคเอกชน (ผู้ค้าน้ำมัน) ตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา

           ในอดีตรัฐบาลเคยมีประกาศปรับลดและเพิ่มอัตราสำรองตามความเหมาะสมของ สถานการณ์ และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติให้ลดอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายให้เหลือจำนวนวัน สำรองประมาณ 25 วัน โดยแบ่งเป็นอัตราสำรองน้ำมันดิบร้อยละ 6 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 1 จากเดิมที่มีการสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในอัตราสำรองร้อยละ 6 เท่ากัน

           นอกจากนี้ภาครัฐยังมีเครื่องมือทางกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลที่เพียงพอและชัดเจนอยู่แล้วในการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น มี พ.ร.บ. ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543  พ.ร.ก. แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516  และมี พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำกับดูแลให้มีการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน อีกด้วย

           ส่วนวัตถุประสงค์ข้อที่ 5 ที่อ้างว่าเพื่อสนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อประโยชน์ แก่ความมั่นคงทางด้านพลังงานคอบช.ด้านบริการสาธารณะ ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเบียดบังและเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนด้วยการตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้สามารถใช้เงินจากกองทุนน้ำมันที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือจะต้องมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มเติมอีก รวมทั้งยังให้อำนาจแก่กองทุนในการกู้ยืมเงินได้อีกสองหมื่นล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงอันเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนอย่าหนักหนาสาหัสและอาจเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชนมากจนเกินควร

           หากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันรัฐบาลสามารถนำรายได้จากกิจการพลังงานในหลายลักษณะ คือจากภาษีน้ำมัน จากเงินรายได้จากการถือหุ้นในกิจการพลังงานร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในรูปแบบของค่าภาคหลวง เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม นับแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท มาดำเนินการได้ โดยรัฐบาลอาจนำรายได้ส่วนนี้ไปสนับสนุนการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน หรือรัฐอาจใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเองโดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียก่อน ไม่ควรที่จะสร้างภาระอันซ้ำซ้อนให้กับประชาชนด้วยการจัดตั้งและเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯอีก

press cover 29052017 003

           นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กรรมการ คอบช. ด้านบริการสาธารณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ร่างกฎหมายกองทุนน้ำมันกำหนดให้ กองทุนมีเงินเพียงพอเมื่อรวมกับเงินกู้ต้องไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท เมื่อกองทุนมีเงินไม่เพียงพอที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 1 , 2 หรือ 3 ให้กองทุนกู้ยืมเงินได้ ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทนั้น ขอตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบว่า การออกกฎหมายนี้ รัฐบาลมุ่งหมายที่จะนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อไปอุ้มการลงทุนของภาคเอกชนในการสร้างท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน รวมไปสถานีรับก๊าซ LNG ที่เอกชนมีแผนการลงทุนอยู่แล้วใช่หรือไม่ และการนำวัตถุประสงค์ 1 , 2 และ 3  ที่อ้างว่าจะช่วยรักษาระดับราคาน้ำมันและช่วยเหลือคนยากคนจนมาประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนน้ำมันต่อไปนั้น เป็นเพียงฉากบังตาการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปสนับสนุนการลงทุนของเอกชนใช่หรือไม่ ? ขอตั้งเป็นคำถามเพื่อให้สังคมได้พิจารณากัน

  

           ผศ.ประสาท มีแต้ม กล่าวว่า คอบช.ด้านบริการสาธารณะ ไม่เห็นด้วยต่อเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ... ของรัฐบาลทั้งฉบับ และเห็นควรให้รัฐบาลยกเลิกกองทุนน้ำมัน ส่วนเงินที่มีอยู่ 4 หมื่นล้านบาทในกองทุนปัจจุบัน ขอเสนอให้รัฐบาลจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนทั่วทุกภูมิภาคว่าควรนำเงินส่งเข้าคลัง หรือนำเงินส่งคืนประชาชนในรูปแบบของการปรับลดราคาน้ำมัน

           “หากรัฐบาลไม่สนใจฟังเสียงทักท้วงของผู้บริโภคและประชาชนในการยกเลิกการออกกฎหมายและไม่ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทางคอบช. จะร่วมมือกับเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศเพื่อนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ด้วยเห็นว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....ของรัฐบาลและการมีอยู่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77” ผศ.ประสาท กล่าว

            คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช.) เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพองค์กรและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเพื่อองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งเป็นโครงการที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ เครือข่ายผู้บริโภคพัฒนาขึ้นและได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  โดยนำแนวคิดและจำลองรูปแบบการรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และ พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติไว้

ลิ้งก์ที่เกี่ยวข้อง:
- ร่าง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... >> http://www.eppo.go.th/index.php/th/component/k2/item/12151

พิมพ์