ผู้บริโภคเสนอกรอบรธน.ปฏิรูปประเทศ ร้องรัฐผ่านกม.องค์การอิสระผู้บริโภค พร้อมยุติการจับกุม

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 3546

155456

องค์กรผู้บริโภคเสนอกรอบรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้รัฐบาลผ่านกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องให้ยุติการจับกุมบุคคล กลุ่ม องค์กร ที่รณรงค์ปัญหาความเดือดร้อนและข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศ


วันนี้ (20 พ.ย.-กรุงเทพฯ) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในนามของตัวแทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ร่วมแถลงข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศ และเรียกเรียกร้องให้รัฐบาลผ่านกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมยุติการจับกลุ่มบุคคล กลุ่ม องค์กร ที่รณรงค์ปัญหาความเดือดร้อน ยืนยันรัฐควรสร้างบรรยากาศการปฏิรูปด้วยการเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ ได้จัดกิจกรรมโดยไม่มีการจับกุมย่อมเป็นผลดีต่อการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศโดยรวม เพราะเชื่อว่า รัฐธรรมนูญเป็นของทุกคน และต้องทำให้การปฏิรูป “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ดังที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายที่ต้องการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนและกลไกในการเสนอกฎหมายของประชาชนผ่านช่องทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายโดยให้ความสำคัญกับกฎหมายประชาชนเป็นลำดับแรก

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า “เครือข่ายผู้บริโภคได้จัดทำข้อเสนอรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้รัฐบาลผ่านกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องให้ยุติการจับกุมบุคคล กลุ่ม องค์กร ที่รณรงค์ปัญหาความเดือดร้อน เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้ต่างต้องการให้รัฐธรรมนูญและการปฏิรูปได้รับการยอมรับจากสังคมและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องสอดคล้องกับข้อเสนอของประชาชนและได้รับความร่วมมือจากประชาชน จึงต้องเปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่ม องค์กร ต่างๆ สามารถเสนอความทุกและปัญหาต่างที่รอการปฏิรูปได้”

ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคยังกล่าวต่อไปว่า “การร่างรัฐธรรมนูญควรยึดหลักการ ‘สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน มีกลไกที่ดีในการตรวจสอบการเอาเปรียบผู้บริโภคและการคอรัปชั่น และมีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและมีการจัดทำประชาพิจารณ์รวมถึงท้ายที่สุดต้องมีการลงประชามติ นอกจากนี้รัฐต้องรับรองสิทธิพลเมืองในฐานะผู้บริโภคให้ได้รับการคุ้มครองที่เทียบเท่าในระดับสากล ด้วยสิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ”

ด้าน นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวถึงข้อเสนอเชิงระบบต่อการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคว่า 1.รัฐต้องสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคให้มีส่วนร่วม ในการให้ข้อคิดเห็นต่อนโยบายและมาตรการที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ติดตามตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งทำหน้าที่ให้ข้อมูลและสนับสนุนผู้บริโภคให้เท่าทันในการดำเนินชีวิต 2.รัฐต้องให้ความสำคัญต่อสัดส่วนของตัวแทนผู้บริโภคอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในโครงสร้างของคณะกรรมการทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค 3.รัฐต้องมีการปรับปรุงมาตรการเชิงลงโทษผู้ประกอบการให้เข้มงวดมากขึ้น หรือเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้เสียหายอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และ 4.รัฐต้องพัฒนาโครงสร้างระบบความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้านความมั่นคงทางยา และอาหาร

“รัฐต้องตระหนักถึง “ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ “ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญและต้องดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิพลเมืองในฐานะผู้บริโภค ได้แก่ พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และก่อนการทำสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรือเป็นภาคี พันธสัญญาระหว่างประเทศ รัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม และวิถีชีวิต วัฒนธรรมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสําคัญ และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา” นางสุภาพร กล่าว

ขณะที่ ภญ.ชโลม เกตุจินดา กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้เน้นย้ำถึงการเปิดพื้นที่ในการเสนอความเห็นทั้งบุคคล กลุ่ม องค์กร และสื่อมวลชน ได้อย่างอิสระและเปิดกว้าง พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงกัน
“สิ่งที่พี่น้องทำอยู่ไม่ได้รบกวนบรรยากาศการปฏิรูป ฉะนั้นตั้งแต่การจับกุมที่พื้นที่ภาคใต้ การเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานต่างๆ และล่าสุดคือการจับกุมน้องๆ มข. ก็คิดว่าจะมีการจับกุมกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จึงอยากให้ยกเลิกการจับกุมกุล่มบุคคลที่เรียกร้องเรื่องปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งปัญหาความเดือดร้อนนั้นสะท้อนให้เห็นว่ามันเกิดจากกระบวนการอะไรก็แล้วแต่ที่มันสะสมมานาน อยากให้เปิดพื้นที่นี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น กระทั่งทำให้สื่อมวลชนเองก็จะได้ทำงานสื่อสารข่าวสารของพวกเราได้อย่างอิสระ สื่อต้องทำให้ให้ข้างล่างและข้างบนสื่อสารเชื่อมต่อกันอย่างอิสระและเปิดกว้างจริงๆ การที่เราเน้นเรื่องนโยบายแห่งรัฐไม่ว่ารัฐจะมาจากไหนเราเชื่อว่าสิ่งนี้นั้นรัฐต้องดำเนินการให้เปิดกว้างอย่างแท้จริง” ภญ.ชโลมกล่าวทิ้งท้าย

พิมพ์