banner debttrain

กว่าจะถึงวันที่ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมจาก “กฎหมายทวงหนี้”

 

เสียงปรบมืออย่างเกรียวกราวในเว็บบอร์ดของชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งมีสมาชิกกว่าหมื่นคน ดังสวนเสียงกัดฟันกรอดของบรรดาสำนักงานรับจ้างทวงหนี้ที่หากินบนความทุกข์ของชาวบ้านมานานปี หลัง ครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ...เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2553 ที่ผ่านมา

ในวันนั้น นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ค Korn Chatikavanij ระบุว่า..."ในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมอยู่มาก วันนี้(14 ก.ย.53)คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยพรบ. มีสาระสำคัญดังนี้ครับ
      - ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นการละเมิดและคุกคามในการติดตามทวงถามหนี้ เช่น การข่มขู่ ใช้ความรุนแรงการใช้วาจาหรือภาษาดูหมิ่น เป็นต้น
      - ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการติดตามทวงถามหนี้ เช่น ทำให้เข้าใจว่าการกระทำของศาล หรือเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นต้น
      - ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เว้นแต่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐในการแก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนโดยมุ่งให้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลผู้ที่ดำเนินการติดตามทวงถามหนี้และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการติดตามทวงถามหนี้ให้เป็นธรรมและมีมาตรฐาน รวมทั้งมีบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนให้ชัดเจน....

ผมเองยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมดของร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่จากที่สื่อมวลชนได้ถ่ายทอดสาระสำคัญของกฎหมายซึ่งกำหนดให้ผู้ที่รับจ้างจากผู้ให้สินเชื่อในการติดตามทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจ และต้องดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ห้ามข่มขู่/คุกคาม/ละเมิด ห้ามทวงถามในลักษณะเปิดเผยต่อบุคคลอื่น อาทิ ส่งจดหมาย/หนังสือประทับข้อความทวงหนี้ที่เห็นได้ชัด รวมถึงส่งข้อความหรือโทรสารด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ กำหนดเวลาทวงถามในวันทำการตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. เป็นต้น โดยบุคคลที่ทำธุรกิจติดตามทวงถามหนี้อยู่แล้วต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลังภายใน 90 วัน หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

ซ้ำยังมีโทษสำหรับผู้ที่จงใจฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียน และได้กำหนดบทลงโทษอาญาไว้อีกด้วย คือ 1.ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท 2.จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.หนักที่สุดกรณีคุกคามประชาชนจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เห็นสาระสำคัญคร่าวๆอย่างนี้แล้ว ร่างกฎหมายติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรมฉบับนี้น่าจะเป็นฉบับเดียวหรือไม่ก็ใกล้เคียงกับฉบับที่ท่าน รองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น ได้เคยยื่นเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550

ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ส่วนหนึ่งมาจากการระดมความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ และตัวแทนของชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาทนายความ แต่น่าเสียดายที่ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไปไม่ถึงดวงดาวเนื่องจากมีการยุบสภานิติบัญญัติไปเสียก่อน

การที่กระทรวงการคลัง นำโดยท่าน รมต.กรณ์ จาติกวณิช มองเห็นความทุกข์และไม่ลืมสัญญาประชาคมกับลูกหนี้ทั้งหลาย เดินหน้าชงเรื่องจนครม.ชุดปัจจุบันได้อนุมัติในหลักการของกฎหมาย จึงต้องขอมอบดอกไม้ให้สัก 1 ช่อมาเป็นกำลังใจ

รอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปจนออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้สำเร็จเมื่อไหร่

วันนั้นคงมีดอกไม้หอบใหญ่ๆจากลูกหนี้ที่ได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองของกฎหมายฉบับนี้อีกหลายหอบ
ที่สำคัญขอให้กฎหมายทวงถามหนี้ที่เป็นธรรมไม่แป๊กตกเวทีสภาท่านผู้ทรงเกียรติเหมือนครั้งที่ผ่านมาก็แล้วกัน

พิมพ์ อีเมล