banner debttrain

กฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดีหนี้สิน

 

เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตาม 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดต่อไป

การยึดทรัพย์
ตามขั้นตอนบังคับคดี โดยปกติเจ้าหนี้จะสืบหาว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินใด พอให้ยึดมาขายทอดตลาดชำระหนี้บ้าง โดยเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะยึดทรัพย์ทุกอย่างที่เป็นของลูกหนี้ หรือลูกหนี้มีกรรมสิทธิร่วม แต่กฎหมายก็ให้ความคุ้มครอง ห้ามเจ้าหนี้ยึดทรัพย์บางรายการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ได้แก่

1. ทรัพย์สินที่จำเป็นในการดำรงชีวิต มูลค่ารวมกัน 50,000 บาทแรก ห้ามยึด เช่น โต๊ะกินข้าว เก้าอี้ เครื่องครัว เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินส่วนตัว เช่น สร้อย แหวน นาฬิกา แม้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของลูกหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็มีสิทธิยึดได้เพราะไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต

2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ ถ้ามูลค่ารวมกัน 100,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด เครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร(ถ้าประกอบธุรกิจรับถ่ายเอกสาร) ในกรณีที่เครื่องมือประกอบอาชีพมีราคาสูงกว่า 100,000 บาท และจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ก็สามารถขอต่อศาลได้
หากมีเจ้าหนี้หลายราย ทรัพย์ใดถูกยึดไปแล้ว ห้ามเจ้าหนี้รายอื่นมายึดซ้ำ เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนก็ได้สิทธิก่อน

การอายัดเงินเดือน โบนัส ค่าตอบแทนต่าง ๆ

     ในกรณีที่ลูกหนี้ ไม่มีทรัพย์สินจะให้ยึด เจ้าหนี้จะสืบต่อไปว่าลูกหนี้ทำงานที่ไหน เพื่อจะอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ ซึ่งสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นี้ ก็เช่น สิทธิที่จะได้รับเงินเดือนจากนายจ้าง ค่าล่วงเวลา เงินโบนัส ค่าจ้างทำของต่าง ๆ เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์ในการอายัด ดังนี้
     1. อายัดเงินเดือน ค่าจ้าง ได้แค่ 30% ของเงินเดือน โดยคำนวณจากเงินเดือนก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ภาษี ประกันสังคม
     2. เงินโบนัส อายัดได้ 50%
     3. เงินตอบแทนกรณีลูกหนี้ออกจากงาน อายัดได้ 100%
     4. เงินค่าคอมมิชชั่นอายัดได้ 30%
     5. ส่วนเงินสวัสดิการ เช่น ค่าน้ำมัน,ค่าเบี้ยเลี้ยง,ค่าเดินทาง,ค่าที่พัก, ค่าน้ำ,ไฟฟ้า,ประปา,โทรศัพท์,ค่าตำแหน่ง,ความสามารถ ฯลฯ ที่จัดเป็นสวัสดิการ ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะสืบทราบและร้องขอต่อศาลว่าจะขออายัดเท่าไหร่
     6. ในกรณีลูกหนี้ เงินเดือน ไม่ถึง 10,000 บาท ห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน แต่มิได้หมายความว่าหนี้จะหมดไป เพียงแต่แขวนหนี้เอาไว้ก่อน
     7. หากลูกหนี้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน
     8. เมื่อถูกอายัดเงินเดือน หรือรายได้ใด ๆ ก็ตาม รวมแล้วลูกหนี้ต้องมีเงินเหลืออย่างน้อยเดือนละ 10,000 บาท แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่า 10,000 บาท เช่น มีภาระครอบครัว ต้องดูแลบุพการี หรือมีโรคประจำตัว ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้เพิ่มจำนวนเงินมากกว่า 10,000 บาทได้ นอกจากนี้ ก็ยังสามารถขอลดหย่อนสัดส่วนการอายัดรายได้ให้น้อยกว่าร้อยละ 30 หากมีความจำเป็น
     9. กรณีเจ้าหนี้หลายราย เมื่อเจ้าหนี้รายใดอายัดเงินเดือนลูกหนี้แล้ว ห้ามเจ้าหนี้อื่นอายัดเงินเดือนลูกหนี้ซ้ำอีก
     10. ลูกหนี้สามารถขอให้ทางบริษัท ออกหนังสือรับรอง หรือหลักฐานเพื่อแยกให้เห็นว่า เป็นเงินเดือนเท่าไร, เป็นสวัสดิการเท่าไร เพราะ เงินสวัสดิการเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ค่าที่พัก,ค่าน้ำมัน เป็นต้น

     การบังคับคดีตามคำพิพากษา ท่านห้ามมิให้บังคับคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษา

พิมพ์ อีเมล