จะสู้ หรือ จะยอมดี

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 15508

ได้รับโทรศัพท์จากพวกทวงหนี้สินเชื่อเงินสด โทรมาบอกว่าส่งเรื่องฟ้องแล้วนะคะ ตอนนี้จะให้ทางเลือกลูกหนี้ 2 ทางคะ
1. ให้ปิดยอดหนี้แล้วจะถอนฟ้อง โดยเงินต้นอยู่ที่ประมาณ 15,600 แต่เขารวมค่าเบี้ยปรับ ดอกเบี้ยอะไรต่างๆ แล้ว เขาฟ้องที่ประมาณ 31,000 บาท แต่ถ้าเราจะปิดบัญชี เขาจะลดให้ที่ 28,000 บาทคะ

2. ให้ทำเรื่องผ่อนชำระโดยจะต้องชำระยอด 2,600 เข้าไปให้เขาก่อน โดยให้ชำระครึ่งหนึ่งคือ 1,300 เข้าไปสิ้นเดือนนี้ และที่เหลือให้ไปชำระที่ศาล และทำเรื่องผ่อนผันกันไปโดยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000 บาทคะ เขาบอกว่าถ้าไม่ชำระเข้าไปก่อน 1,300 สิ้นเดือนนี้ วันที่ขึ้นศาลยอดฟ้องจะไม่ใช่ที่ 28,000 ที่บอกเอาไว้คะ เขาจะคิดดอกเบี้ยเพิ่มอีก ประมาณ 10 - 15% คะ
รบกวนถามหน่อยนะคะควรจะทำงัยดีคะ เพราะคิดว่าจะผ่อนชำระเป็นรายเดือนไปนะคะ

ตอบ
ไหน ๆ เจ้าหนี้จะฟ้องแล้ว ก็ขึ้นศาลสู้คดีให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยดีกว่าครับ แต่การไปสู้คดีนี้ไม่ใช่ ไปสู้ว่าคุณไม่ได้เป็นหนี้เขา แต่เป็นการไปชี้แจงให้ศาลเห็นว่าเจ้าหนี้กำลังเอาเปรียบคุณอยู่ เช่น คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด คิดค่าติดตามทวงถามที่แพงเกินกว่าเหตุ แม้จะลดยอดหนี้ให้แต่รวม ๆ แล้ว ก็ยังมีส่วนเกินที่คุณไม่ควรต้องจ่ายอีกหลายพัน


ที่สำคัญหากตัดสินใจว่าจะสู้คดีในศาล คือ คุณจะต้องทำคำให้การยื่นต่อศาลเพื่อโต้แย้งคำฟ้องของเจ้าหนี้โจทก์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คุณได้รับหมายฟ้อง หากคุณไม่ทำคำให้การ ไม่ตั้งประเด็นข้อต่อสู้ขึ้นไป ศาลก็จะไม่หยิบประเด็นนั้นขึ้นมาพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เบี้ยปรับ หรือแม้แต่เรื่องอายุความ ซึ่งเป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตาย ที่อาจจะทำให้ศาลพิพากษายกฟ้องได้หากเจ้าหนี้ฟ้องคดีเมื่อขาดอายุความไปแล้ว

คุณควรรวบรวมเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ เช่น สัญญากู้ยืม ใบเสร็จการชำระเงิน จดหมายติดตามทวงถาม ฯลฯ แล้วปรึกษากับทนายความ เพื่อร่างคำให้การ เพราะการเขียนคำมันมีแบบแผน มีรายละเอียดปลีกย่อยที่จำเป็นต้องใช้นักกฎหมาย เช่น การอ้างอิงมาตรากฎหมายต่าง ๆ ประเด็นในการต่อสู้คดี เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการพิจารณา ตัดสินคดีของศาลทั้งสิ้น

เมื่อถึงวันนัดพิจารณาของศาล ก็ควรจะไปตามนัด ก่อนศาลจะออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี คุณอาจได้รับการติดต่อจากทนายเจ้าหนี้ เช่น ยอมลดยอดหนี้ให้ ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปอีก ถ้าสิ่งที่เขาเสนอมาน่าสนใจก็รับฟังไว้ก่อน แต่อย่าเพิ่งตกลงกัน รอให้ศาลออกนั่งพิจารณาก่อนแล้วค่อยทำบันทึกข้อตกลงต่อหน้าศาลจะดีกว่า

ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ อย่าขาดนัดศาลเด็ดขาด เพราะคดีหนี้สินแบบนี้ ถือเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ศาลอาจนัดสืบพยานแค่ 2 – 3 ครั้งก็พิพากษาแล้ว การขาดนัดคุณมีแต่จะเสียเปรียบ เหมือนถูกเจ้าหนี้ซัดอยู่ข้างเดียว โดยที่คุณไม่มีโอกาสต่อสู้เลย

พิมพ์