หายใจเข้า หายใจออก บอกชะตาชีวิต

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 15713

ไม่ได้กำลังสอนจระเข้ว่ายน้ำ ด้วยการสอนหายใจให้คนที่กำลังหายใจ และไม่ได้เป็นโหราจารย์ ทำนายดวงชะตาราศรี แต่กำลังจะแลกเปลี่ยนความคิดในการดำเนินชีวิตของพวกเรา ผู้อยู่ใต้ฟ้าไฮเทคร่วมกันว่า

โลกใบน้อยนี้ มีสิ่งที่ให้เรียนรู้มากมาย ยิ่งระบบสารสนเทศกว้างไกลไร้ขอบเขตเท่าไร เรื่องตื่นตาตื่นใจก็มีมากไม่รู้จบเท่านั้น แต่เรื่องเหล่านี้ยิ่งรู้ยิ่งทำให้ชะตาชีวิตวุ่นวายสับสนหรือไม่ ยังสงสัยอยู่

หากพูดแบบเปรียบเทียบก็เข้าทำนอง รู้เรื่องอื่นมากมาย แต่ไม่รู้จักตนเอง และในที่นี้ขอพุ่งเข้าเป้า(หมาย) ลองนึก ๆ ดูว่า เราเรียนรู้เรื่องการหายใจแค่ไหน ? ที่อยู่กับตัวเรามาแต่เกิด

ขอย้ำว่า ไม่ได้กำลังสอนให้เราหายใจ (เพราะเราหายใจกันอยู่แล้ว หรือใครไม่ ?) แต่เราหลายคนอาจไม่ค่อยได้คิดถึงการหายใจ เพราะร่างกายของเรามหัศจรรย์ยิ่งนัก มีกลไกทำให้เราหายใจได้ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เราจึงไม่ค่อยได้คิดถึง และไม่ค่อยรู้สึกถึงการหายใจด้วย ตราบจนกระทั่งเริ่มหายใจติดขัดนั่นแหละจึงเริ่มเรียนรู้การหายใจ

เป็นอันว่าก่อนที่การหายใจจะติดขัดเหมือนรถสตาร์ทไม่ติด ! เรามาเรียนรู้สิ่งดี ๆ จากการหายใจดีไหม ยกเว้นบางท่านที่เข้าใจแจ่มชัด ก็ถือว่าล้อมวงสนทนาแลกลมหายใจกันก็แล้วกัน

เรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประการแรก ก็คือ การแลกเปลี่ยนลมหายใจนี่แหละ เคยคิดบ้างไหมว่า ลมหายใจเข้าที่พาออกซิเจนสู่ปอดหรือร่างกาย เพื่อการสร้างเซล ทำให้เกิดการหมุนเวียนเลือด หรือพูดง่าย ๆว่าสร้างเนื้อหนังสร้างชีวิตของเรานั้น ออกซิเจนเข้าออกเหล่านี้เคยผ่านต้นไม้บางต้น ลมหายใจของเพื่อนรักบางคน และคนชังหลายคน ผ่านยาจกบ้าง เศรษฐีบ้าง นกแก้ว สุนัข แมว

การหายใจนอกจากเป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้แล้ว ยังกลายเป็นสายสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างคนกับธรรมชาติ และสรรพสัตว์ แบบนี้กระมังที่ชะตาชีวิตของเราร่วมกันเข้าทำนอง “โลกทั้งผองพี่น้องกัน”

การคิดถึงลมหายใจเช่นนี้ หากใคร่ครวญให้ดีน่าจะเปลี่ยนทัศนคติและเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเราได้บ้าง ต่อไปเราคงเห็นนก หนู ผู้คนรอบข้างเป็นมิตรกับเรามากขึ้น หรือยามที่เพื่อนร่วมเรียน ร่วมงาน ร่วมชีวิตเกิดอาการ ”วีน” ที่ไม่กินเส้นกับเรา ก็นึกเสียว่าลมหายใจที่เคยเข้า ๆ ออก ๆ ของเขาก็เป็นเนื้อหนังของเรามาแล้ว

ทัศนคติต่อการหายใจช่วยให้คลายความตึงเครียดได้ดี ถ้าผนวกกับการเรียนรู้อย่างที่สองเรื่องการหายใจที่มีความรู้สึกสัมผัสเพิ่มเข้าไปเวลาหายใจ จะเป็นของขวัญที่วิเศษมหัศจรรย์จากธรรมชาติ หมายความว่า เวลาที่หายใจแล้วรู้สึกถึงลมหายใจผ่านจากจมูกน้อย ๆ ผ่านหลอดลมเข้าสู่ปอด รู้สึกถึงปอดและท้องขยายตัวรับเอาลมเข้าไปเต็มที่ และรู้ว่าลมที่อัดแน่นกำลังผ่านออกไปทางเดิมที่ปลายจมูก ท้องและปอดแฟบลง

ความรู้สึกตามลมหายใจเข้าออกแสนจะธรรมดานี้ กำหนดให้ชีวิตของเราผ่อนคลายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าบอกว่าวิธีการสูดลมหายใจเป็นศาสตร์ล้ำลึกของโลกตะวันออก และบอกว่าการรู้สึกสัมผัสถึงลมหายใจเช่นนี้หลาย ๆ รอบ เราจะมีสติขึ้น เยือกเย็นขึ้น ภาษาสมัยนี้ก็คือคลายเครียด ซึ่งก็คือการฝึกสติของชาวพุทธนั้นเอง(อานาปนสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก)

ศิลปะการหายใจทำนองนี้มีอยู่ในศาสตร์ของตะวันออกหลายแขนง ซึ่งกำลังเฟื่องฟูในดินแดนตะวันตก ชาวฝรั่งสนใจและทำการศึกษาอย่างเป็นระบบมากขึ้น พูดแบบนี้คนรุ่นโทรศัพท์ไร้สายคงชอบมากกว่าว่าด้วยเรื่องศาสนา

ที่ฝรั่งสนใจเพราะสังคมที่เขาอยู่เครียดมาก จึงต้องเรียนรู้วิธีคลายเครียด แล้วฝรั่งมาพบเพชรของตะวันออก เรื่องการหายใจ ฝรั่งเรียนทั้งการฝึกสติแบบพุทธ เรียนการฝึกโยคะ ไทเก็ก ชี่กง ขณะที่คนไทยเข้าทำนองใกล้เกลือกินด่าง จึงละเลยไปบ้าง ทั้งที่สังคมเราก็เครียดไม่แพ้กัน

ลองกลับมาสนใจลมหายใจปกติของเรา อยากจะแนะนำวิถีของโยคะให้ฝึกฝน จะช่วยทำให้จิตใจสงบเย็น ไล่ความวุ่นวายและความเครียด และในอีกด้านหนึ่งการฝึกหายใจเป็นการส่งเสริมให้ความคิดอ่านดีขึ้น เรียกว่าแค่การเรียนรู้การหายใจเป็นทั้งยาบำบัด และเป็นอาหารเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย
การฝึกหายใจของโยคะท่าหนึ่ง ชาวฝรั่งตั้งชื่อไว้ไพเราะว่า the sweet breath มาจากภาษาโยคะว่า Nadi Shodhana

คำว่า Nadi แปลว่าทางผ่านของพลังปราณ ส่วน Shodhana หมายถึงการทำให้สะอาด ปลอดโปร่ง แปลรวมกันก็คือ ทางแห่งการทำให้สะอาด โปร่ง สบาย ซึ่งชาวตะวันออกเชื่อว่าปราณที่เดินได้ดีสะดวกให้พลังกับชีวิต

วิธีการไม่ยาก อย่าไปนึกถึงโยคีดัดตัวพิสดาร เพียงให้คุณนั่งให้สันหลังตรง จะนั่งพื้น นั่งเก้าอี้ก็ได้ แล้วใช้มือข้างหนึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยหายใจ คือ ใช้นิ้วมือให้เป็นประโยชน์ โดยเริ่มจากปิดรูจมูกข้างขวาไว้ หายใจเข้าทางรูจมูกซ้าย แล้วปิดรูจมูกซ้าย หายใจออกทางรูจมูกขวา ต่อด้วยหายใจเข้าทางจมูกขวา ยังปิดรูจมูกซ้ายไว้ แล้วหายใจออกด้วยรูจมูกซ้าย โดยปิดรูจมูกขวา เป็นอันทำครบหนึ่งรอบ

ขอให้หายใจเข้าออกด้วยความอ่อนละไมไม่ต้องรีบเร่ง โดยให้ใช้สัมผัสรับรู้ว่าลมหายใจเดินทางผ่านไปถึงไหนแล้ว เริ่มจากหายใจเข้าให้ท้องพองออกก่อน พอท้องขยายเต็มที่ ก็พยายามยืดลมหายใจให้หน้าออกพองออกด้วย เวลาหายใจออก ท้องยุบตัวก่อนแล้วตามด้วยหน้าอก วิธีแบบนี้จะทำให้เราหายใจเต็มปอด เป็นการหายใจที่ใช้ทั้งปอดส่วนบนและล่าง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักหายใจสั้น ๆ ใช้เพียงปอดส่วนบนขยับแบบกระชั้นและถี่ ซึ่งทำให้เหนื่อยง่าย สุขภาพไม่ค่อยดี จิตใจก็ร้อนรนง่าย

วิธีการรับเอาออกซิเจนเข้าปอดนี้ บางตำราหรือนักปฏิบัติโยคะบางสำนัก บอกว่าเวลาหายใจเข้าให้ปอดขยายก่อน แล้วตามด้วยท้องพอง พอหายใจออกท้องยุบตัวก่อนแล้วตามด้วยปอด ซึ่งเป็นวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ครูโยคะบอกว่า หายใจโดยให้ท้องขยายตัวรับลมหายใจก่อน หรือหน้าอกพองก่อนจึงท้องพองก็ไม่สำคัญ ขอจิตใจของผู้ฝึกอยู่กับลมหายใจตลอดสำคัญกว่า เพราะการหายใจเป็นการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่างกายกับจิต ซึ่งจะทำให้เกิดสติ สมาธิ และปัญญาความคิดดี ๆ นั้นเอง

ครูโยคะได้ให้ข้อคิดเพิ่มว่า ถ้าเราหายใจโดยให้หน้าอกขยายตัวก่อนแล้วตามด้วยท้องนั้น มีส่วนดีเพิ่มเติมเมื่อหน้าอกขยายขึ้นจะทำให้ส่วนหลังยืดขึ้น ทำให้สันหลังตั้งตรง เมื่อหลังตั้งตรงช่วยให้จิตใจเราตรงนิ่งไม่ว้าวุ่นด้วย

วิธีที่แนะนำนี้บางท่านอาจรู้สึกยากเกินไป หรือไม่ถนัดในการปิดรูจมูก ก็ขอให้นั่งตัวตรง ๆ และหายใจเข้าออกด้วยรูจมูกทั้งสองข้างแต่ขอให้ทำอย่างช้า ๆ และผ่านขั้นตอนที่กล่าวไว้ ทำสัก 5-10 รอบ เพียงเท่านี้ก็ได้รับประโยชน์ จากลมหายใจ ช่วยคลายความเครียดได้อย่างอัศจรรย์

เวลาใดคุณเริ่มรู้สึกเครียด หรือแม้ต้องการพลังความคิดดี ๆ ลองนั่งลงแล้วเริ่มหายใจเข้าออกช้า ๆ ละมุนละไมหายใจลึก ๆ ให้ทั่วท้องและปอด เป็นลมหายใจที่งดงาม และเมื่อได้ฝึกฝนบ่อย ๆ ลมหายใจที่สั้นและที่ไม่เคยได้สัมผัสว่าลมนั้นผ่านจมูกเราไปตั้งแต่เมื่อใด ก็จะรู้ว่าลมนั้นอยู่ที่ปอดหรือที่ท้องของเรานี่เอง และลมหายใจก็นำพามิตรมาสู่เราด้วย

เรียนรู้แล้วก็เชิญชวนให้ปฏิบัติ ยามใดนึกถึงก็นั่งตัวตรงสัมผัสลมหายใจ หรือยามใดอาการเครียดกำเริบ ก็มีมิตรแท้เป็นลมหายใจให้ผ่อนคลายได้

ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ลมหายใจนั้นงดงามและกำหนดชะตาชีวิตของเรา ให้สงบเย็น และความคิดอ่านสร้างสรรค์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ.

ข้อมูลจาก ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 48
โดย วีรพงษ์ เกรียงสินยศ ชมรมเพื่อนธรรมชาติ
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

{mxc}

 

พิมพ์