เปิด 23 ถาม-ตอบ ระหว่าง “รสนา โตสิตระกูล” กมธ. กับ “อารักษ์ ชลธาร์นนท์” รมว.พลังงาน ปมสัมปทานปิโตรเลียม

เกือบจะเรียกว่าเป็นวิวาทะที่ยืดเยื้ออีกเรื่องหนึ่ง

สำหรับกรณีการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้าง ธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี “น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์” ส.ว.เพชรบุรี เป็นประธาน และมี “น.ส.รสนา โตสิตระกูล” เป็นประธาน กมธ. กิตติมศักดิ์

ที่จนถึงวันนี้ “นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังไม่เข้าชี้แจง “ปมร้อน” ตามที่ กมธ. มีหนังสือเชิญ แต่ได้มอบหมายให้ “นายทรงภพ พลจันทร์” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนมาให้ข้อมูลต่อ กมธ.แทน

โดยในภายหลัง กมธ.ปฏิเสธการฟังคำชี้แจงของอธิบดี เนื่องจากอธิบดีทำหน้าที่ชี้แจงแทน รมว.พลังงานมาแล้วหลายครั้ง และบางประเด็นเป็นเรื่องในระดับนโยบายที่ข้าราชการประจำไม่สามารถตอบได้

การประชุม กมธ.จะมีขึ้นในวันที่ 13 กันยายน นี้ ถือเป็นการครบกำหนด 3 ครั้ง ที่เปิดโอกาสให้ รมว.พลังงาน
ใช้สิทธิในการให้ “ความร่วมมือ” เข้าชี้แจงด้วยตัวเอง

หากนับจากนี้ กมธ.จะงัด พ.ร.บ.คำสั่งเรียกคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและฯ พ.ศ. 2554 เพื่อ “บีบ” ให้ รมว.พลังงาน เข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ. ตามกฎหมาย

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าตรวจสอบพบว่า การพิจารณาของ กมธ.ในกรณีการให้สัมปทานรอบที่ 21 นั้น กมธ.ได้ส่งหนังสือถึง รมว.พลังงานเพื่อเชิญร่วมประชุมกับ กมธ.และได้แนบข้อซักถามไปถึงรมว.พลังงาน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกมีคำถาม 16 ข้อตามหนังสือที่ สว (กมธ 2) 0010/3728 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ครั้งที่สองอีก 7 ข้อตามหนังสือที่ สว (กมธ2) 0030/4020 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 รวม 23 ข้อ ซึ่งรมว.พลังงานได้ทำหนังสือตอบคำถามมายังกมธ.ดังนี้

กมธ. : 1. เหตุผลความจำเป็นในการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21

รมว.พลังงาน : 1.1 ประเทศไทยมีความต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณการผลิตอยู่ในระดับสูงสุด และกำลังจะลดลงภายใน 5 ปีข้างหน้า การเปิดสัมปทานครั้งนี้จะเพิ่มโอกาสพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ เพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียม รักษาระดับการผลิตให้ได้นานที่สุด และลดสัดส่วนการนำเข้า

1.2 การที่จะผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ จะต้องดำเนินการล่วงหน้า 6 ปี เป็นอย่างน้อยในการสำรวจขุดเจาะและพัฒนา ดังนั้น หากเปิดสัมปทานในปี 2555 กว่าจะสามารถนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเร็วที่สุดคือในปี 2561

1.3 มีบริษัทน้ำมันแสดงความสนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และเป็นเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากการเปิดสัมปทานครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้ผ่านมา 5 ปีแล้ว

1.4 ราคาปิโตรเลียมยังสูงโดยตลอด ทำให้มีผู้สนใจมาลงทุนสำรวจหาปิโตรเลียมเพิ่มเติม ถึงแม้ว่าศักยภาพปิโตรเลียมในประเทศจะไม่สูงนัก โดยแหล่งขนาดเล็กที่คาดว่าจะพบจะสามารถพัฒนาได้อย่างคุ้มทุน

1.5 เพื่อให้การลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจอื่นเป็นประโยชน์ต่อสังคมในด้านการจ้างงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน

กมธ. : 2. หลักเกณฑ์ วิธีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม และคัดเลือกบริษัทที่จะรับสัมปทานปิโตรเลียมมีรายละเอียดอย่างไร

รมว.พลังงาน : การให้สัมปทานปิโตรเลียมเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนเข้ามาทำการสำรวจและผลิต ปิโตรเลียมโดยลงทุนและรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง และรัฐในฐานะเจ้าของทรัพยากรจะได้รับประโยชน์ทางตรงจากการมีเม็ดเงินมาลงทุน ในประเทศ และเป็นตัวเงินถ้ามีการสำรวจพบและผลิตปิโตรเลียมในรูปค่าภาคหลวงและภาษีเงิน ได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางอ้อมจากการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน

กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติใช้วิธีการออกประกาศเชิญชวนให้มี การยื่นขอสัมปทานเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อกำหนดในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และโดยอาศัยความตามมาตรา 24 และกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 (ฉบับที่ 3) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง (ฉบับที่ 16) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประกาศเชิญชวนมาโดยตลอด โดยได้ออกประกาศเชิญชวนตั้งแต่ปี 2514 จนถึงปี 2550 แล้ว รวม 20 ครั้ง

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ผู้สนใจจะยื่นขอสัมปทานต้องมีคุณสมบัติในการเป็นบริษัท มีทุน เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม โดยจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานและรายละเอียดประกอบคำขอภายในเวลาที่กำหนด โดยแบ่งเป็น 2 ซอง คือ ซองที่ 1 เป็นคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาคุณสมบัติ ส่วนซองที่ 2 เป็นข้อผูกพันการสำรวจทั้งปริมาณงานและปริมาณเงิน โครงการสำรวจ และผลประโยชน์พิเศษที่เสนอให้รัฐ

วิธีการคัดเลือกผู้รับสัมปทาน

ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับสัมปทาน จะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอสัมปทานปิโตรเลียม ในคณะกรรมการปิโตรเลียม เป็นคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งเพื่อพิจารณาคำขอโดยเฉพาะ โดยอนุกรรมการฯ จะเปิดซองคำขอซองที่ 1 เพื่อพิจารณาคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือของผู้ยื่นขอสัมปทานจากหลักฐานการ จดทะเบียนบริษัท ความมั่นคงทางการเงิน ชื่อเสียงและประสบการณ์ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เมื่อพิจารณาเห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว คณะอนุกรรมการฯ จึงจะเปิดซองที่ 2 พิจารณาให้คะแนนข้อผูกพันด้านปริมาณงานและปริมาณเงิน (คะแนนเต็ม 80) และผลประโยชน์พิเศษ (คะแนนเต็ม 20) โดยนำโครงการสำรวจปิโตรเลียมและรายงานธรณีวิทยามาประกอบการพิจารณา

จากนั้นนำเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมตามพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และมีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมต่างๆ เช่น กรมสรรพากร กรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมประมง เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ผู้แทนส่วนราชการต่างๆ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี แล้วนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามลำดับ

กมธ. : 3. หลักเกณฑ์ในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

รมว.พลังงาน : การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมกำหนด สรุปโดยย่อได้ดังนี้

3.1 รายละเอียดโครงการ รายละเอียดกิจกรรมโครงการ ของเสียและการจัดการ

3.2 สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต

3.3 การมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อย 2 ครั้ง และการสำรวจทัศนคติผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง

3.4 การวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ

3.5 มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการให้เป็นไปตาม ที่กำหนดใน EIA อย่างเคร่งครัด

กมธ. : 4. ระยะเวลาในการให้สัมปทานปิโตรเลียม

รมว.พลังงาน : ระยะเวลาในการให้สัมปทานเป็นไปตามมาตรา 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แบ่งเป็น 2 ช่วงต่อเนื่องกัน ประกอบด้วย

1) ระยะเวลาสำรวจ 6 ปี และต่อได้อีก 1 ครั้ง ไม่เกิน 3 ปี

2) ระยะเวลาผลิต 20 ปี นับจากวันถัดจากสิ้นระยะเวลาสำรวจ และต่อได้อีก 1 ครั้ง ไม่เกิน 10 ปี นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาสำรวจ บริษัทฯ จะต้องคืนพื้นที่ตามที่กฎหมายดังนี้

-เมื่อครบปีที่ 4 ของระยะเวลาสำรวจจะต้องคืนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50%

-หากได้รับการต่อระยะเวลาสำรวจ ต้องคืนพื้นที่อีกไม่น้อยกว่า 25%

-เมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจ (ปีที่ 6 หรือ ปีที่ 9) ต้องคืนพื้นที่สำรวจทั้งหมด

กมธ. : 5. ศักยภาพของพื้นที่ที่จะให้สัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 บุคคลหรือหน่วยงานใดเป็นผู้พิสูจน์ทราบในศักยภาพของพื้นที่นั้น และความเป็นไปได้ที่จะผลิตเชิงพาณิชย์

รมว.พลังงาน : การสำรวจหาปิโตรเลียมในขั้นแรกต้องหา 3 อย่าง คือ หินต้นกำเนิด หินกักเก็บ และหินปิดกั้น จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ จึงจะถือได้ในชั้นต้นว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียม ซึ่งต้องทราบถึงลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของชั้นหิน โดยการศึกษาธรณีวิทยา และสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน จากนั้นจึงทำการพิสูจน์ทราบโดยการเจาะหลุมสำรวจ

คณะทำงานด้านเทคนิคของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยา ทำการวิเคราะห์และประเมินข้อมูลธรณีวิทยา ข้อมูลการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน และข้อมูลหลุมเจาะที่เคยมีการสำรวจมาในอดีต เพื่อให้ได้ทราบถึงศักยภาพของพื้นที่และจัดทำเป็นแปลงสำรวจที่สมควรเปิดให้ ยื่นขอสัมปทาน

กมธ. : 6. ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับจากการให้สัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21

รมว.พลังงาน : ผลประโยชน์โดยตรงในรูปตัวเงินกำหนดโดย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 ซึ่งประกอบด้วย

1. ค่าภาคหลวง ในอัตราแบบขั้นบันไดร้อยละ 5-15 เมื่อมีการขายปิโตรเลียมโดยยังไม่ให้หักค่าใช้จ่ายในการลงทุน

2. ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ

3. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ในอัตราร้อยละ 50 จากผลกำไรในการประกอบกิจการ

กมธ. : 7. ถ้ามีการให้สัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 แล้ว จะยังมีพื้นที่ใดที่เหลืออยู่และจัดให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งต่อไป

รมว.พลังงาน : มีพื้นที่ที่ยังว่างอยู่ และพื้นที่ที่จะได้รับคืนตามข้อกำหนดของกฎหมาย

กมธ. : 8. สัมปทานปิโตรเลียมที่ผ่านมา มีบริษัทใดบ้างที่ได้รับสัมปทาน และแปลงสัมปทานปิโตรเลียมอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง

รมว.พลังงาน : ปัจจุบันมีผู้รับสัมปทานจำนวน 73 ราย ถือสิทธิใน 61 สัมปทาน 76 แปลงสำรวจ (บนบก 38 แปลง ทะเลอ่าวไทย 35 แปลง และทะเลอันดามันน้ำลึก 3 แปลง

การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา

กมธ. : 9. สัดส่วนพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่ผ่านมาของแต่ละบริษัท

รมว.พลังงาน : กฎหมายกำหนดให้บนบกไม่เกิน 4,000 ตร.กม. ส่วนในทะเลไม่ได้กำหนด

กมธ. :10. ระยะเวลาการให้สัมปทานปิโตรเลียมที่ผ่านมาของแต่ละบริษัท

รมว.พลังงาน : ระยะเวลาการให้สัมปทานจะเท่ากันทุกบริษัท (รายละเอียดตามข้อ 4)

กมธ. : 11. ความสามารถในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม ของแต่ละบริษัทที่ได้รับสัมปทาน

รมว.พลังงาน : ความสามารถในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม มีได้ตั้งแต่สำรวจไม่พบปิโตรเลียม พบเพียงร่องรอยปิโตรเลียมหรือไม่เพียงพอที่จะประเมินปริมาณ พบปริมาณน้อยไม่สามารถพัฒนา (ไม่คุ้มทุน) สำรวจพบในปริมาณที่สามารถพัฒนาเพื่อผลิตปิโตรเลียมได้

กมธ. : 12. ต้นทุนในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม ของแต่ละบริษัทเป็นอย่างไร โดยเทียบจากอดีตถึงปัจจุบัน

รมว.พลังงาน : มีตั้งแต่กลุ่มที่ไม่ประสบผลสำเร็จและคืนพื้นที่ในช่วงการสำรวจ โดยมีการลงทุนตั้งแต่ 6 – 630 ล้านบาท จนถึงกลุ่มที่สามารถพัฒนาผลิตได้ เช่น ผู้ผลิตรายใหญ่ในปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้วประมาณ 500,000 ล้านบาท

กมธ. : 13. ปริมาณการขายปิโตรเลียมของแต่ละบริษัท

รมว.พลังงาน : รายละเอียดตามเอกสารแนบในรายงานประจำปี

กมธ. : 14. ปริมาณการส่งออกปิโตรเลียมของแต่ละบริษัท

รมว.พลังงาน : ปริมาณปิโตรเลียมที่ส่งออกในปี 2554 ประมาณ 11 ล้านบาร์เรล

กมธ. : 15. ผลประโยชน์ที่รัฐได้รับจากสัมปทานปิโตรเลียมที่ผ่านมา

รมว.พลังงาน : รายได้รัฐรวมประมาณ 1.04 ล้านล้านบาท

กมธ. : 16. หลักเกณฑ์การพิจารณาให้มีการส่งออกปิโตรเลียม และการออกคำสั่งห้ามมิให้มีการส่งออกของแต่ละบริษัท

รมว.พลังงาน : เป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 61 ซึ่งกำหนดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศหรือเพื่อ ให้มีปิโตรเลียมเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามส่งปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ทั้งหมดหรือ บางส่วนออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามส่งไป ณ ที่ใดเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ มาตรา 62 กำหนดให้รัฐมนตรีต้องจัดให้มีผู้ซื้อปิโตรเลียมที่ห้ามส่งออกด้วยถ้าผู้รับ สัมปทานร้องขอ

กมธ. : 17. การคิดค่าภาคหลวงในอัตราร้อยละ 5-15 คิดเป็นรายหลุมเจาะหรือคิดรวมเป็นผลผลิตทั้งแหล่ง

รมว.พลังงาน : การคิดค่าภาคหลวงคำนวณเป็นรายแปลงสำรวจ

กมธ. : 18. ขอทราบขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อทราบปริมาณปิโตรเลียมที่แท้จริงเพื่อใช้ในการคำนวณค่าภาคหลวง

รมว.พลังงาน : ในการขายปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เอกสารแนบ 1 โดยต้องติดตั้งอุปกรณ์มาตรวัด ณ จุดซื้อขายปิโตรเลียม ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือน้ำมันดิบแล้วแต่กรณี ซึ่งการติดตั้ง วิธีการวัด การคำนวณและการปรับเทียบอุปกรณ์มาตรวัดปริมาณปิโตรเลียม ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล และต้องปรับเทียบอุปกรณ์มาตรวัดตามระยะเวลาที่กำหนด โดยจะต้องกระทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ทั้งนี้ ในการซื้อขายปิโตรเลียมจะมีตัวแทนผู้ซื้อ ผู้ขาย และเจ้าหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมตรวจสอบปริมาณการขายปิโตรเลียม โดยเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่จัดเก็บค่าภาคหลวงตรวจสอบปริมาณโดยใช้รายงานการ ขายปิโตรเลียม ที่เจ้าหน้าที่ภาคสนามตรวจสอบแล้วเปรียบเทียบกับรายงานปริมาณการขายของ บริษัทผู้รับสัมปทาน เพื่อเป็นการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งสำหรับการคำนวณค่าภาคหลวงปิโตรเลียม

กมธ.: 19 .ขอรายละเอียดผลตอบแทนพิเศษของแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม ทั้งการให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งแรกและการต่อสัมปทานปิโตรเลียม

รมว.พลังงาน : การเสนอผลประโยชน์พิเศษให้แก่รัฐในการขอสัมปทานปิโตรเลียมเป็นไปตามกฎ กระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2514) และกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และเป็นข้อมูลสารสนเทศทางธุรกิจเฉพาะของผู้ประกอบการแต่ละราย

กมธ. : 20 .การโอนหรือขายสัมปทานปิโตรเลียมให้บุคคลอื่นทุกรายการพร้อมราคา

รมว.พลังงาน : การโอนสัมปทานปิโตรเลียมหรือการรับผู้ประกอบการในสัมปทานปิโตรเลียม สามารถดำเนินการได้ตามบทบัญญัติในมาตรา 47, 48, 49 และ 50 ของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สำหรับราคาของการโอน หากมี จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่กรมสรรพากรตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติภาษีเงิน ได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสรรพากร

กมธ. : 21. เปรียบเทียบข้อแตกต่างของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ในการให้สัมปทานปิโตรเลียมสำรวจ และขุดเจาะของประเทศไทย กับประเทศพม่า กัมพูชา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย โบลิเวียและเวเนซุเอลา

รมว.พลังงาน : ดังเอกสารแนบ

กมธ. : 22. ประเด็นข้อซักถาม 6. มีระบบการตรวจสอบหรือพิจารณาโดยใช้ดุลยพินิจอย่างไร

รมว.พลังงาน : ระบบการตรวจสอบหรือพิจารณาการดำเนินการต่างๆ ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

กมธ. : 23. มีหลักเกณฑ์ไม่ให้ผู้คืนสัมปทานปิโตรเลียมเดิมมาประมูลใหม่หรือในครั้งที่ 21 หรือไม่ และขอเอกสารขอสำเนาสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมของแหล่งสิริกิติ์และแหล่งบงกช เพื่อประกอบการพิจารณา

รมว.พลังงาน : ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ห้ามไม่ให้ผู้คืนสัมปทานเดิมมาประมูลใหม่ ส่วนสำเนาสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมนั้น เป็นเอกสารสนเทศทางธุรกิจ ที่มีผลต่อการดำเนินงานและการแข่งขันทางธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาในการเผยแพร่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า รมว.พลังงานจะมีการส่งคำตอบและตัวแทนมาชี้แจงต่อ กมธ. แล้ว

แต่ทว่า หาก รมว.พลังงานยังไม่มาให้ข้อมูลด้วยตัวเอง จะเข้าข่ายการฝ่าฝืน พ.ร.บ.คำสั่งเรียกทันที!

โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับ 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกฎหมายได้มอบ “ดาบ” ให้ประธาน กมธ. มีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป


ข้อมูลจาก ไทยพับลิก้า
6 กันยายน 2555

พิมพ์ อีเมล