พลังงานไทย เพื่อใคร?

เขียนโดย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 20288

ที่ผ่านมามีหนังสือพิมพ์บางฉบับ ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง Oil Story แบ่งเป็นตอนๆ ซึ่งไม่ได้มีการแจ้งชื่อของผู้เขียน ปรากฏเพียงตราสัญลักษณ์และคำขวัญประจำองค์กร ที่พอทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นของ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) อยู่ท้ายบทความดังกล่าว เห็นว่าบทความดังกล่าวเป็นบทความเชิงโฆษณาเพื่อสร้างความชอบธรรมขององค์กรมากกว่าจะเป็นบทความที่นำเสนอข้อมูลที่อยู่ภายใต้พื้นฐานข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนรอบด้าน

ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอนำเสนอบทความเรื่อง  “พลังงานไทยเพื่อใคร” ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลอีกด้านหนึ่งของปัญหาการไร้ธรรมาภิบาลในกิจการพลังงานไทยและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยบทความชิ้นนี้เรียบเรียงโดยใช้ฐานข้อมูลจากรายงานเรื่อง ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา  ซึ่งมีคุณรสนา  โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน

จริงหรือ...? คนไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันแพง เพราะเป็นประเทศ “นำเข้า” พลังงาน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับกิจการด้านพลังงานทั้งรัฐและเอกชน มักจะอ้างอยู่เสมอว่า เหตุผลที่ต้องให้ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นในประเทศ เป็นราคานำเข้า โดยอิงราคาตลาดสิงคโปร์ทั้งหมดร้อยเปอร์เซนต์เต็ม เพราะโรงกลั่นในประเทศต้องมีค่าใช้จ่ายการนำเข้าน้ำมันดิบส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกกลาง คำชี้แจงเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

เหตุผลข้างต้นอาจจะใช้อ้างได้กับสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทย ช่วงก่อนปี  2524 หรือเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว  ที่ปริมาณการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศไทยขึ้นอยู่กับน้ำมันเชื้อเพลิงนำเข้าประมาณ 90% แต่จากผลการสำรวจพบปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเลของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่หลายแหล่ง และมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่าประเทศไทยมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นโดยตลอด คือในปี 2547-2551  ไทยผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นได้  676 , 743 , 765 , 794 และ  850 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน เรียงตามลำดับ ทำให้สามารถลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง จากในปี 2547 ที่ต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศร้อยละ 68 ของปริมาณการใช้พลังงานในประเทศทั้งหมด เหลือนำเข้าเพียงร้อยละ 58 ในปี 2551 เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่า ณ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถพึ่งพาพลังงานของตนเองได้เกือบครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมดเลยทีเดียว  และปริมาณการผลิตพลังงานของไทยระดับนี้ เท่ากับ 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตของประเทศกาตาร์ สมาชิกกลุ่มโอเปกเลยทีเดียว

ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่เป็นความจริง และการกำหนดให้ราคาน้ำมัน เป็นราคานำเข้าไปทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่มีวัตถุดิบที่ใช้ในการกลั่นอยู่ในประเทศ 40 – 50% จึงเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอีกต่อไป

ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันแข่งขันเสรีหรือถูกผูกขาด
จากเดิมที่ภาครัฐพยายามแก้ปัญหาการขาดดุลเนื่องจากการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ทำให้ภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีกิจการโรงกลั่น โดยเชิญชวนเอกชนมาลงทุนสร้างโรงกลั่นในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าและสร้างความมั่นคงในการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปให้กับประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนตั้งโรงกลั่นในประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปี 2537 – 2539 จนปัจจุบันมีโรงกลั่นทั้งหมด 7 โรง มีกำลังการกลั่นรวม 1,227,000 บาร์เรลต่อวัน แต่แทนที่ภาครัฐจะกำกับควบคุมดูแลให้โรงกลั่นเหล่านี้ดำเนินกิจการภายใต้การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ไม่ให้มีการผูกขาดตัดตอน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ กลับปล่อยให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)  เข้าไปเป้นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นขนาดใหญ่ถึง  5 โรง คือไทยออยล์ บางจาก ไออาร์พีซี อะโรเมติกส์และการกลั่น และสตาร์ปิโตรเลีม รีไฟน์นิ่ง ซึ่งมีกำลังการกลั่นรวมกันมากถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือเท่ากับ 85% ของปริมาณการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมด ในขณะที่ปริมาณการใช้ในประเทศมีเพียงแค่ 7 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ทำให้ ปตท. มีสิทธิควบคุมนโยบายผ่านคณะกรรมการบริษัทเพื่อครอบงำตลาดซื้อขายน้ำมันของประเทศได้ ทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้เคลื่อนไหวโดยกลไกตลาดเสรีอย่างแท้จริง  ดังจะพบได้ว่า ราคาค้าปลีกน้ำมันของไทยจะปรับตัวลงช้ากว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมาก แม้ว่าในยามราคาน้ำมันโลกขึ้นจนราคาในประเทศจะขึ้นตามด้วยก็ตาม ราคาน้ำมันที่ขายกันตามปั๊มต่างๆ จึงไม่ใช่ราคาที่เหมาะสมและผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกหรือหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากราคาน้ำมันถูกผูกขาดมาตั้งแต่ต้นทางนั่นเอง

ราคา ณ โรงกลั่น  ความ “เสมอภาค” จอมปลอม
ราคาที่โรงกลั่นขายให้ผู้ค้าน้ำมัน หรือ ราคา ณ โรงกลั่น ก่อนจะส่งผ่านภาระมาถึงผู้บริโภคในท้ายที่สุดนั้น ปตท. ได้เคยให้ข้อมูลผ่านทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มีนาคม 2552 ว่าเป็นไปตามโครงสร้างเดิมที่รัฐเป็นผู้กำหนดตั้งแต่ปี 2522  ที่ใช้หลักการราคา “เสมอภาค” กับการนำเข้าโดยอิงราคาตลาดสิงคโปร์ โดยให้เหตุผลว่าที่ต้องเป็นราคาเสมอภาคกับการนำเข้า เพราะโรงกลั่นในประเทศต้องมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกกลางนั้น เป็นการกำหนดโครงสร้างราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและประเทศเป็นอย่างมาก

ประการแรก การผลิตพลังงานของไทยไม่ได้พึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบบางส่วนเป็นวัตถุดิบในประเทศ ดังที่กล่าวไว้แล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงควรถูกกว่าราคา ณ ระดับของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด

ประการที่สอง การขายน้ำมันให้ผู้ค้ำน้ำมันในประเทศโดยการใช้ราคา “เสมอภาค” กับการนำเข้าที่ ปตท. พูดถึงนั้น เป็นราคาน้ำมันที่บวกค่าโสหุ้ยในการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานไทย และค่าประกันภัยจากสิงคโปร์มาไทย ซึ่งในอดีตเมื่อปี 2522 การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเช่นนี้อาจมีความเหมาะสม เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเกือบทั้งหมด แต่ ณ ปัจจุบัน น้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในประเทศทั้งหมดผลิตได้จากโรงกลั่นที่อยู่ภายใต้อำนาจผูกขาดของ ปตท. ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี ระยอง กรุงเทพฯ นี่เอง ดังนั้น บรรดาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ถูกบวกเข้ามาจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง  

ประการที่สาม ราคาขายน้ำมันให้คนไทยในประเทศกับราคาส่งออกไปต่างประเทศ ไม้ได้เป็นราคา “เสมอภาค” อย่างที่ปตท. กล่าวอ้าง  การที่โรงกลั่นในประเทศมีกำลังการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปจนล้นเกินความต้องการภายในประเทศ ทำให้มีการส่งออกน้ำมันคุณภาพสูงไปขายแข่งขันในตลาดน้ำมันต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ โรงกลั่นจึงส่งออกโดยอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ลบด้วยค่าโสหุ้ยในการขนส่ง ค่าสูญเสียในการขนส่ง ค่าประกันภัย และค่าปรับปรุงคุณภาพ ราคาน้ำมันส่งออกจึงเป็นราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาดโลกที่แท้จริง  ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่คนไทยจ่ายจึงแพงกว่าที่ควรเป็นเพราะกลไกตลาดเทียม คือประมาณ 2 เท่าของค่าโสหุ้ยในการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูประหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์นั่นเอง และแม้ว่าราคาน้ำมันที่ขายในตลาดต่างประเทศจะเป็นราคาที่ต่ำ แต่ก็สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นได้อย่างมหาศาล โดยในปี 2551 ไทยส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปมีมูลค่ารวมกันกว่า 316 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าส่งออกข้าวได้เพียง 203 ล้านบาทเท่านั้น

เครือ ปตท. กำไรพุ่ง 9.5 หมื่นล้าน
ด้วยโครงสร้างราคาน้ำมันที่รัฐยินยอมให้มีการบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเข้าไปในราคาน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศ หากเป็นยุคที่ ปตท. ยังไม่ถูกแปรรูปก็อาจไม่ส่งผลเสียอะไรมากนัก เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นจะตกเป็นของรัฐทั้งหมดนำมาเป็นงบประมาณบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่  แต่เมื่อ ปตท.ถูกแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว โครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพของภาครัฐ ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทโรงกลั่นในเครือ ปตท. มีกำไรสูงขึ้นอย่างมหาศาล โดยในปี 2552 ผลประกอบการของเครือ ปตท. มีกำไรรวมกันสูงกว่า 95,000 ล้านบาท มีกำไรเพิ่มขึ้น 74.6% และผลกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่มาจากผลประกอบการของโรงกลั่นน้ำมันในเครือ ปตท. อาทิ ไทยออยล์ มีผลกำไรสูงขึ้นจากปี 2551 ถึง 5,300% หรือ บางจากจากเดิมที่มีผลประกอบการขาดทุน 750 ล้านบาท ก็สามารถพลิกกลับมามีกำไรในปี 2552 เป็นเงินถึง 7,524 ล้านบาทผลกำไรเพิ่มขึ้น 1,103%  ผลกำไรดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและพากันลดปริมาณการใช้น้ำมันทุกประเภท

พิมพ์