banner trafic

จี้เนเนสท์เล่ ปรับบรรจุภัณฑ์นำพลาสติกฉีกนำออกนอกซอง และติดฉลากไฟจราจร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครุก เนสท์เลเปลี่ยนแพ็กเกตหลังจี้แจงว่าพลาสติกที่พบเป็นตัวนำฉีกเพื่อง่ายต่อการบริโภค

 

วันนี้ (3 เม.ย.56) ตัวแทบนบริษัทเนสท์เล่(ไทย) จำกัดเข้าพบ น.ส.สารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมยื่นหนังสือชี้แจงการพบพลาสติกสีแดงในภัณฑ์ช็อคโกแล็ตนมสอดไส้เวเฟอร์ ตราเนสท์เล่คิทแคท ว่า พลาสติกสีแดงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นตัวนำฉีกเพื่อให้ผู้บริโภคฉีกบรรจุภัณฑ์ได้ง่าย พร้อมทั้งระบุว่าพลาสติกที่ปลอดภัย  สัมผัสอาหารได้ซึ่งได้ผ่านการรับรองจาก FDA (UK)  ซึ่งไม่ใช่การปนเปื้อนเศษพลาสติกในเนื้อขนม ที่ปนเปื้อนพลาสติกจากการขึ้นรูปช็อคโกแล็ตเหมือนที่เกิดขึ้นในอังกฤษ  และช็อคโกแล็ตในไทยก็นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียไม่ได้นำเข้าจากยุโรป

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า พลาสติกที่พบในซอง ซึ่งทางตัวแทนได้ชี้แจงมาว่าเป็นตัวนำฉีกบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ง่ายนั้น  ถึงแม้จะเป็นพลาสติกที่ไม่เป็นอันตรายและสัมผัสอาหารได้แต่เมื่อช็อกโกแล็ตละลายเส้นพลาสติกก็จะเข้าไปปนอยู่ในเนื้อช็อกโกแล็ต  และอาจมีผู้บริโภคบางรายบริโภคเข้าไปก็จะเป็นอันตรายได้

“เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  ต้องเปลี่ยนรูปแบบแพ็กเก็ตบรรจุภัณฑ์ให้ปลอดภัย หากจะทำให้ฉีกง่ายต่อผู้บริโภค ก็ควรที่จะนำตัวนำฉีกมาไว้ด้านนอกให้สัมผัสกับอาหาร  หากเปรียบเทียบกับซองบุหรี่ที่มีนำฉีกเช่นกันยังนำมาไว้ด้านนอกซอง  และขอเรียกร้องให้บริษัทเนสท์เล่ ตรวจสอบด้วยกว่ามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ รวมทั้งดูว่าบริษัทเนสท์เล่ที่มาเลเซียมีการนำผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาส่งออกไปขายประเทศอื่นหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นที่เห็นว่าควรจะปรับปรุงพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์คือการแสดงฉลากอาหารแบบเร็วเป็นสีเดียว (Monochrome) ที่ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดให้ต้องแสดงในกลุ่มขนมห้าชนิด (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2)  โดยที่หนึ่งในห้านั้นคือ กลุ่มเวเฟอร์สอดไส้ ซึ่ง คิทแคท ก็เข้าข่าย ขนมกลุ่มนี้ แต่บนบรรจุภัณฑ์กลับไม่มีการแสดงฉลากนี้อย่างถูกต้องโดยมีเพียงการระบุปริมาณพลังงานเท่านั้น

“ทางเนสท์เล่น่าจะได้มีการปรับปรุงเรื่องนี้ และเมื่อจะมีการปรับปรุงการแสดงฉลากโภชนาการแล้ว จึงขอเสนอเพิ่มเติมให้ทางบริษัทดำเนินการติดฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรแบบเดียวกับบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศอังกฤษ นำร่องโดยสมัครใจให้เป็นตัวอย่างกับบริษัทอื่น ๆ และ อย. ไปในครั้งเดียวเลย” นายพชรกล่าว

ด้านตัวแทนบริษัทเนสท์เล่ รับปากจะนำเรื่องที่ร่วมหารือกันและรับข้อเสนอไปคุยกับทางทีมงาน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และจะส่งหนังสือมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกครั้ง

พิมพ์ อีเมล